การเคหะแห่งชาติร่วมกับ พอช. จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง”

0
1014

การเคหะแห่งชาติร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ประเทศไทย (World Habitat Day 2022-Thailand) ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No place Behind) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย Mr. Srinivasa Popuri, Senior Human Settlement Officerผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ และผู้แทนชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า UN-HABITAT หรือ “โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ” กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2565 และยังตรงกับวันครบรอบสถาปนา 20 ปี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงฯ ได้มีการจัดงาน 20 ปี พม.

ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 โดยการเคหะแห่งชาติได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต และยังร่วมกับ พอช.จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้แนวคิด “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No place Behind)

นายทวีพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในประเทศไทย โดยดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ตามเป้าหมายที่ 11 การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัว มีภูมิต้านทาน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสุขภาวะอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

โดยการเคหะแห่งชาติได้รับมอบหมายให้พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง จำนวน2.27 ล้านครัวเรือน ซึ่งตลอดระยะเวลา 49 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการสร้างและจัดหาที่อยู่อาศัยแล้ว 746,439 หน่วย และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 367,000 หน่วยและยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) ซึ่งมีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการบ้านเคหะสุขเกษม โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง โครงการอาคารเช่าสำหรับ
ผู้มีรายได้น้อย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) และโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการบ้านเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ได้จัดสร้างโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย ขณะที่โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 หน่วย นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินร่วมกับบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อก่อสร้างและประกอบการค้าเชิงพาณิชย์พร้อมบริหารพื้นที่ (ตลาด) โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จํากัด ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการบ้านเคหะสุขประชาโดยวิธีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการลำลูกกา คลอง 12 จังหวัดปทุมธานี โครงการวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ขณะนี้ได้นำผลการศึกษาความเป็นได้เสนอต่อคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา จากนี้ก็จะเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อจะเริ่มในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนดำเนินการต่อไป

ขณะที่โครงการบ้านเคหะสุขเกษม “บ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ” ได้เปิดตัวโครงการบ้านเคหะสุขเกษมจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ที่ตั้งโครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 126.5 ไร่ ซอยที่ดินไทย ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แบ่งการพัฒนาโครงการออกเป็น 4 ระยะ รวมทั้งสิ้น 4,089 หน่วย มีรูปแบบอาคารเป็นอาคารชุดสูง 5 ชั้น (มีลิฟต์ทุกอาคาร) ขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 23 และ 33 ตารางเมตร ออกแบบโครงการภายใต้หลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ เช่น ลิฟต์ ทางลาด ราวจับ และพื้นที่จัดกิจกรรม อาทิ ศูนย์สุขภาพ (ธาราบำบัด) แพทย์แผนไทย โยคะ ฟิตเนส พื้นที่สันทนาการและออกกำลังกาย คลินิกอายุรกรรม สวนสาธารณะ สวนน้ำ และที่จอดรถ เป็นต้น

ด้านโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ขณะนี้ดำเนินการอยู่ 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการฯ ระยะที่ 1 (อาคารพักอาศัยแปลง G) แล้วเสร็จ และได้บรรจุผู้อยู่อาศัยครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ส่วนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (ประเมินความต้องการของชุมชน)

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) พื้นที่บริเวณทะเลสาบ โครงการเคหะชุมชนคลองจั่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและภาคเอกชนเพื่อนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป

โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จัดสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 4 ชั้น ขนาดห้องพักอาศัยประมาณ 28 และ 30 ตารางเมตร สำหรับห้องพักอาศัยชั้นที่ 1 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการสามารถ
อยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายและพึ่งพาตนเองได้ อัตราค่าเช่าตั้งแต่ 1,400-2,500 บาท (ขึ้นอยู่กับที่ตั้งโครงการฯ) ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ที่สนใจทำสัญญาพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที จำนวน 6 โครงการ รวม 1,164 หน่วย

โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยเป็น “เครื่องมือทางการเงิน” ช่วยลูกค้าที่ซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติแต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อผ่านโครงการดังกล่าวได้ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) ของการเคหะแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้า โดยวงเงินสะสมที่อนุมัติแล้ว (ปีงบประมาณ 2563-พ.ค.2565) 966.825 ล้านบาทรวม 1,490 หน่วย (ลูกค้าทั่วไป 1,307 ราย และกลุ่มเปราะบาง 183 ราย)

“ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การเคหะแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปจากเมื่อก่อนที่เน้นการสร้างบ้านเพื่อขาย มาเน้นการสร้างบ้านเพื่อเช่าให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่รับภาระได้อย่างทั่วถึง และยังคงดูแล
ผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชุมชนเกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติ “สร้างบ้าน
สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” และยังตรงกับแนวคิดของวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2565 (World Habitat Day 2022) “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No place Behind)” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด