การเคหะแห่งชาติจัดเสวนาและบรรยายหัวข้อ “ที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในอนาคต“ โดยมี ดร.สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย ผศ.ดร.อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการการเคหะแห่งชาติ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก เข้าร่วมงานดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องพาวิลเลียน ชั้น 8 โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟว์วิงส์ คอนเวนชัน ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร. อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ มีภารกิจในการดูแลคนทุกช่วงวัยให้ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐอย่างถ้วนทั่ว รวมถึงมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัย ในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน แต่จะต้องวางแผนดำเนินงานในภาพที่กว้างกว่านั้น คือจะต้องออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับทุกคน (Universal Design) รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่าง ๆ ให้สามารถรองรับทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้การดำเนินงานเรื่องดังกล่าว จะต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชน และจะต้องมีแผนการปฏิบัติงาน มีการประเมินผลเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติรับนโยบายจากรัฐบาลและ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การเคหะแห่งชาติจึงเร่งออกแบบที่อยู่อาศัย
เชิงอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ด้วยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ประตูบานเลื่อนเพื่อรองรับผู้สูงอายุ รวมถึงพื้นที่สันทนาการ พื้นที่สีเขียว พื้นที่สำหรับให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ประสานกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อนำเทคโนโลยี Telemedicine “แพทย์ทางไกล” ดูแลโรคพื้นฐาน เบาหวาน หัวใจ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่สามารถดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติที่สร้างขึ้นมานานกว่า 10-20 ปี ก็กำลังเร่งสำรวจโครงการฯ ที่มีลักษณะเป็นอาคาร 5 ชั้น ว่า จะสามารถติดลิฟต์เพิ่มเข้าไปได้หรือไม่ รวมถึงปรับภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมและสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังมีชุมชนต้นแบบของการดูแลผู้สูงอายุ คือ โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) ที่มีศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ (Elderly Day Care) ให้บริการผู้สูงอายุในชุมชนได้ฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดและดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นความร่วมมือของการเคหะแห่งชาติและสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และยังมีการขยายผลไปยังโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีอีก 9 แห่งอีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อยากให้โฟกัสไปที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีที่อยู่อาศัยสำหรับ
ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุอย่างแท้จริง อยากให้การเคหะแห่งชาติถือเป็นนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ อาจจะปรับปรุงจากโครงการที่อยู่อาศัยเดิมก็ได้
ขณะที่ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงอายุมีหลายมิติและมีความสำคัญ ควรแก้ปัญหาทั้ง 4 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยควรมองที่มิติด้านเศรษฐกิจก่อนว่ารายได้เพียงพอหรือไม่ ต่อมาคือการเตรียมพร้อมด้านสังคม ทั้งในเรื่องครอบครัว เพื่อนฝูงที่จะคอยดูแลพึ่งพาอาศัยกัน และการดูแลสุขภาพเป็นลำดับที่สาม โดยทั่วไปมักจะคิดว่า สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ มีความสำคัญมากกว่าสภาพแวดล้อม
นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเนร่า ซีเนียร์ เวลเนส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจการดูแลสุขภาพเชิง Wellness เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีการดุแลสุขภาพมีอัตราเติบโตสูงมาก ซึ่งมีบริการดูแลหลากหลายตั้งแต่ระดับล่าง กลาง สูง ซึ่งทุกคนควรเตรียมเงินสำหรับดูแลตัวเองเมื่อสูงวัย
นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุ
มีสุขภาพกายและใจที่ดี คือคนในครอบครัวต้องหมั่นพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับประทานอาหารร่วมกัน พาไปทำบุญหรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความอบอุ่นขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจและมีความสุขมากขึ้น