การเคหะแห่งชาติจับมือกับ NIDA พัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อนำองค์ความรู้พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

0
1854

การเคหะแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมี นาย​      ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามในบันทึกดังกล่าว พร้อมด้วย เรืออากาศโท           ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา​  ภู่จินดา คณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญในด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในการอยู่อาศัยจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้ชุมชนน่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน การเคหะแห่งชาติจึงได้บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรไปจนถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย เพื่อส่งเสริมภารกิจหลักของการเคหะแห่งชาติ อันจะนำไปสู่วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรสมรรถนะสูง ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเห็นชอบร่วมกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

เพื่อพัฒนาบุคลากรของการเคหะแห่งชาติให้มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น มีความพร้อมในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรด้านการฟื้นฟูชุมชนเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และพัฒนาเมืองใหม่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าด้วยเจตนารมณ์ของความร่วมมือดังกล่าว สถาบันบัณฑิต​พัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ยินดีให้การสนับสนุนบุคลากรของการเคหะแห่งชาติที่สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นกรณีพิเศษ และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจมีการพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาให้ตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในการทำวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย บริการทางวิชาการ การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติงานด้านการบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความร่วมมือในการเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ อาจารย์พิเศษ การเป็นที่ปรึกษาร่วม และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเคหะแห่งชาติ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์อย่างมากในอนาคต และอาจนำมาซึ่งความร่วมมือด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป