กองทุนพัฒนาสื่อฯ ผนึกกำลัง 30 ภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการวารสารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 67 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยสื่อ พร้อมยกระดับสู่เวทีนานาชาติ

0
34

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัย ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงความสำคัญของการนำงานวิชาการไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนรู้ของสังคม อันเป็นหนึ่งในภารกิจและยุทธศาสตร์สำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อฯ จึงได้ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการวารสารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อการสนับสนุนการวิจัยทางด้านสื่อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการระดับชาติ ให้กับบุคลากรทางด้านสื่อ คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำวิจัย

โดยในงานประชุมวิชาการวารสารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 นี้มีภาคีเครือข่ายจากสมาคม และมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 30 หน่วยงาน ทำให้มีผลงานวิชาการส่งมาจำนวน 70 บทความ ผ่านการพิจารณาให้นำเสนอทั้งสิ้น 37 บทความ
โดยแบ่งเป็นประเด็นดังนี้
• ประเด็นบริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง กฎหมาย หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ส่งผลหรือเกี่ยวเนื่องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
• การศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อ
• การศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการป้องกัน และลดผลกระทบจากเนื้อหาสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
• การวิเคราะห์สื่อเก่า (สื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) และสื่อใหม่ (สื่อดิจิทัล) ตลอดจน สื่อหลอมรวมและนวัตกรรมสื่อ
• การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสื่อมวลชนและผู้ผลิตสื่อฯ
• จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ การกำกับดูแลสื่อ การอภิบาลสื่อ
• การเฝ้าระวัง การวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ และการตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
• การศึกษาผลกระทบของสื่อต่อเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
• การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันสื่อ ความฉลาดทางสารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีเป้าหมายในการทำงานเชิงวิชาการ โดยมีแนวคิดในการจัดทำวารสารวิชาการด้านสื่อ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ ยังคาดหวังให้บทความวิชาการได้รับการตีพิมพ์จากนักวิจัยต่างประเทศ และก้าวเข้าสู่ฐานข้อมูลวิชาการระดับโลกอย่าง Scopus นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ ยังมีแผนจัดเวทีวิชาการนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสนอผลงานได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล โดยเวทีนี้ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเสริมสร้างคุณค่าและความน่าเชื่อถือของงานวิชาการ ทีมงานของกองทุนพัฒนาสื่อฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานด้านวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ในงานยังมีการเสวนา หัวข้อ “งานวิจัยด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม” ร่วมเสวนาโดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คุณศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ โปรดิวเซอร์ ผู้เขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์ A Time to Fly
ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการใช้งานวิจัยสื่อในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสังคม โดยในส่วนของกองทุนพัฒนาสื่อฯ เน้นการทํางานที่มุ่งผลลัพธ์เป็นสําคัญในการสนับสนุนสื่อคุณภาพ ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อเน้นบทบาทการส่งเสริมจริยธรรม การรู้เท่าทันสื่อ และการนําเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ ขณะที่ กสทช. มุ่งปฏิรูปสื่อด้วย 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ปฏิรูปโครงสร้างและการกํากับดูแลเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงคลื่นความถี่ พัฒนาคุณภาพเนื้อหาเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และปรับความสัมพันธ์ผู้ผลิตผู้บริโภค สำหรับโปรดิวเซอร์ ผู้เขียนบท และผู้กํากับภาพยนตร์ A Time To Fly แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างและความเป็นไปได้ในการนำหลักการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการผลิตงานสื่อที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์