สังคมสูงอายุ หมายถึง สังคมที่สูงด้วยพลังส่งต่อ หล่อเลี้ยงชีวิต
(สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ในหนังสือเรื่อง “สูงอายุเป็นน่าเป็นผู้สูงอายุ”)
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เห็นความสำคัญจึงจัดโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค” วัตถุประสงค์ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางสังคม ได้รับความสนุกสนานได้รับความรู้และสาระที่เป็นประโยชน์ รวมกลุ่มเป็นชุมชนออนไลน์, รวมคนที่มีความสนใจคล้ายกันได้รับพลังจากการทำกิจกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงสร้างช่องทางในการติดต่อกับโลกยุคใหม่อย่างไร้รอยต่อ โดยอบรมทักษะทางดิจิทัลแบบจับมือทำฟรี 3 หลักสูตร 3 วัน ได้รับความสนใจจากวัยอิสระ เข้าร่วมสมัครและอบรม พร้อมเตรียมต่อแถวเป็น “นักเล่าเรื่อง” และ “ว่าที่อินฟลูเลนเซอร์ดาวรุ่ง” ในโลกโซเชียล ณ ห้องมรกตชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ แบงคอก เมื่อเร็วๆนี้
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กิจกรรมภายใต้ชื่อ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค” มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ในการสร้างแนวทางการใช้เทคโนโลยีทางดิจิทัล, เพื่อให้ตอบสนองต่อทักษะการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น, เพื่อสร้างสรรค์และผลิตชิ้นงานสื่อที่สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสในการสร้างอาชีพ, เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจสภาพของสังคมผู้สูงวัยในมิติด้านคุณค่าส่วนบุคคลและเชิงเศรษฐกิจของสังคม โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป
ในวันนี้ผมก็ได้เห็นแล้วว่าผู้สูงวัยมีศักยภาพและพร้อมที่จะเรียนรู้และลงมือทำในเรื่องราวใหม่ ๆ และหลายท่านเองก็ได้ประสบการณ์อัพสกิลทักษะออนไลน์ ผ่านการอบรม โดยผู้ร่วมอบรมมีอายุตั้งแต่ 51 – 75 ปี ในรูปแบบของการอบรมออนไลน์ จำนวน 3 วัน 4 ทักษะ ได้แก่ YOLD Creator นักผลิตสื่อวัยเก๋า อบรมการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อลงบนแพลทฟอร์มออนไลน์, YOLD Digital Marketer นักขายออนไลน์วัยเก๋า, YOLD Online Tutor ครูออนไลน์วัยเก๋าการเปลี่ยนความรู้และทักษะให้เป็นรายการด้วยการสอนออนไลน์ และ YOLD Digital Literacy รู้ทันสื่อดิจิทัล ต่อต้าน ข่าวลวง ข่าวปลอม มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน และ ลงพื้นที่บ่มเพาะจนเกิดความเข้าใจ ให้ทำได้และใช้เป็น ซึ่งในกระบวนการนี้นอกจากผมจะชื่นชมผู้สูงวัยที่ร่วมโครงการทุกท่านแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้อง ๆ ที่เป็น “Digital Buddy” ที่มีความพร้อมในการให้คำปรึกษาและสนับสนุน เสมือนลูกหลานที่คอยช่วยเหลือผู้ร่วมกิจกรรมให้ก้าวข้าม อุปสรรคในการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล เป็นหน่วยสนับสนุนร่วมบ่มเพาะจนเกิดต้นแบบที่เป็นองค์ความรู้กลับคืนสู่สังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้รู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ และ สามารถปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางรายได้และสร้างผลผลิตชุมชนได้”
นอกจากนี้เหล่าตัวแทนอินฟลูเอนเซอร์รุ่นเก๋า อาทิ คุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์, คุณเพ็ญสุดา พิทักษานนท์กุล อายุ 60 ปี, คุณนันทภา ขวัญแพรแก้ว อายุ 70 ปี ฯบฯ เผยสิ่งที่ได้รับจากการอบรมทักษะทางดิจิทัล (อบรมออนไลน์)
“การอบรมครั้งนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ก้าวเข้าสู่โซเชียล ปรับตัวให้เท่าทันโลก ซึ่งยุคนี้ถ้าเปิดรับเรียนรู้ก็จะสามารถทำทุกอย่างได้ไว คนแก่ตามไม่ทันโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย คำพูดนี้ไม่จริงเสมอไป ถ้าใจยังเวิร์ค อยากเรียนรู้ มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็ทันโลกได้ ยิ่งมีงานอบรมแบบนี้เป็นคอร์สจับมือทำ สอนเราให้เขียนบล็อก ลงเฟส ถ่ายภาพ ตัดต่อ บรรยากาศสนุกสนาน ไม่ได้เหมือนอยู่ในห้องเรียน ถือเป็นอีกกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขมาก ตอนนี้ก็มีแก๊งคชวนเล่นติ๊กต็อกช่วงโควิด และคลิปสั้น ๆ คลิปยาว ๆ ลงช่องทางอื่นของตัวเอง ประโยชน์ที่ได้รับหลักๆ คือเพื่อคลายเครียด แต่ถ้าจะทำเงิน ทำการค้า ได้หลังจากนี้ด้วยถือเป็นกำไร ไม่ได้คาดหวัง อย่างน้อยได้พัฒนาสมองตลอดเวลาก็พอแล้ว”
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามผลงานและกิจกรรมของโครงการฯ ครั้งต่อๆ ไป รวมถึงผลงานของอินฟลูเลนเซอร์วัยเก๋า รุ่นที่ 1 ได้ที่ Facebook : สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค