กสอ. ชี้ 5 ปัจจัยดึงเอสเอ็มอีไทยขาดการเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมมุ่งปลดล็อกงานวิจัยออกขายจริงในตลาด ผ่าน “ตลาดต่อยอดนวัตกรรม” หวังสร้างจุดยืนใหม่ให้ ผปก.

0
1854

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยยังไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมและงานวิจัยได้ ได้แก่ 1. การขาดองค์ความรู้ 2. ขาดเงินทุน 3. เครือข่ายเชื่อมโยงต่าง ๆ 4. ขาดกำลังคน และ 5. การกระจุกตัวของการพัฒนานวัตกรรมที่ส่วนใหญ่ยังอยู่แค่ในระดับส่วนกลาง พร้อมเผยผู้ประกอบการที่อยากเติบโตต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัย 3 ด้าน คือ การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งใหม่และไม่คุ้นเคย นวัตกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต และการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการตลาด อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีมีการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมให้มากขึ้น กสอ. จึงได้จัดกิจกรรม “Research Connect หรือตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้พัฒนาและผู้ประกอบการ พร้อมต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยได้นำกว่า 50 ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี หรือ Innovation Driven Economy นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ก้าวนำคู่แข่งและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทันกับสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวพร้อมนำมาสร้างสรรค์เป็นบริการและสินค้าใหม่ๆ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม และยังเป็นแนวทางให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบสัดส่วนดังกล่าวกับจำนวนเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านรายแล้ว กลับพบว่ามีไม่ถึงร้อยละ 1 หรือไม่ถึง 30,000 รายที่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจาก 1. ขาดองค์ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งจากภายในและต่างประเทศ เช่น ข่าวรายวัน ผลงานวิจัยใหม่ ๆ การศึกษาข้อมูลตัวอย่างของผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ 2. ขาดเงินทุน เนื่องจากในการผลิตงานวิจัยหรือนวัตกรรมยังมีต้นทุนที่สูง 3. เครือข่ายเชื่อมโยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา จึงยังทำให้ไม่มีโอกาสในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรม หรือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากนัก 4. ขาดกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ในสถานประกอบการ การขาดเครื่องมือ ระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 5.การกระจุกตัวของการพัฒนานวัตกรรมที่ส่วนใหญ่ยังอยู่แค่ในระดับส่วนกลาง หรือระดับหัวเมือง จึงทำให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคยังติดอยู่กับรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้

สำหรับการยกระดับเอสเอ็มอีด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือสู้กับคู่แข่งได้ แต่ยังเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทที่มีการเติบโตเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม และยังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการสร้างนวัตกรรมสำเร็จแล้ว สินค้าและบริการต่าง ๆ ยังเป็นตัวแปรและปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคและสร้างการจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้าได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุคใหม่จะต้องประกอบด้วย

  • การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งใหม่และไม่คุ้นเคย โดยจะต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำกับสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค และมีความก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง เช่น บริการหลังการขาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย สินค้าหรือบริการที่มีหลากหลายฟังก์ชั่นการใช้งาน การสร้างคอนเทนท์หรือการนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อต่างๆที่มีความดึงดูดใจ การผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
  • การเน้นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต โดยจะต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆที่มีความทันสมัย สามารถประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานทดแทน นวัตกรรมเพื่อการลดต้นทุน เป็นต้น
  • การพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมทางการตลาด ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การมีระบบจัดเก็บข้อมูล (บิ๊กดาต้า) การใช้โซเชียลมีเดีย การมีระบบสื่อสารใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้บริโภค เป็นต้น

นายกอบชัย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาธุรกิจจากเดิมเป็นการขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมให้มากขึ้น ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้จัดกิจกรรม “Research Connect หรือตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม” ขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้มีเทคโนโลยี อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย นักวิจัยผู้ถือครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอกชน บุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมนี้ยังเป็นเสมือนความร่วมมือในการเสาะหาผลงานวิจัยที่มีความพร้อมต่อการต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น ภายใต้ 50 กว่าผลงานวิจัยและนวัตกรรม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล อาทิ หลอดกินได้จากข้าวและพืช Soil Moistedดินปลูกต้นไม้ไม่ต้องรดน้ำ Rice Protein โปรตีนจากข้าวเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ เครื่องเติมอากาศประหยัดพลังงานแบบไฮบริดจ์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และ Food Factory Internet of Things Platform (FIoT) ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้ ถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลในอนาคต และยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภายในกิจกรรม Research Connect หรือ ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ยังมีการให้คำปรึกษาด้านการค้าและตลาดออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 50 ผลงาน (พิชชิ่ง) รวมถึงการชิงรางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่น โดยได้รับเกียรติจากนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดในกิจกรรม ณ ห้องเมย์แฟร์ บอลรูม ชั้น 11โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้