กสศ. ร่วมกับ TDRI-กสทช. ร่วมเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการด้านอินเทอร์เน็ต พบการเข้าถึง ‘อินเทอร์เน็ต’ กลุ่มเด็กยากจนพิเศษต้องแบกรับจ่ายค่าบริการแพงสุด เติมเงิน 10 บาทถูกหักค่าธรรมเนียม 2 บาท

0
937

ใจ‘ดร.ไกรยส’ เผยสถานการณ์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาค พบเด็กยากจนจ่ายแพงกว่าเด็กทั่วไป เสนอ ปรับโครงสร้างราคาเป็นธรรม สนับสนุนซิมเด็กเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ‘ดร.สมเกียรติ TDRI’ ย้ำ กลไกตลาดต้องไม่ผูกขาด หนุนเคลื่อนกองทุนอินเทอร์เน็ตช่วยเด็กยากจนเปราะบาง ด้าน ‘กสทช.’ ขานรับ นำผลสำรวจและข้อเสนอเข้าบอร์ดบริหาร เตรียมขยายบริการสาธารณะโทรคมนาคมให้ทั่วถึง

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดผลสํารวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาค โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้นำเสนอข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคและกลุ่มครัวเรือนทั่วไป ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสำรวจอุปสรรคและหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียน
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ได้สำรวจข้อมูลด้วยวิธีโทรศัพท์ หรือ Telephone Survey โดยแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม คือ นักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค ซึ่งหมายถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศเฉลี่ยเดือนละ 1,398.75 บาท จำนวน 1,541 คน จากจำนวนเบอร์ติดต่อเกือบ 10,000 เบอร์ที่โทรไม่ติด และเด็กจากครัวเรือนทั่วไปที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 11,799.21 บาท จำนวน 861 คน พบว่า นักเรียนทุนเสมอภาคสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 3 คนจากจำนวนนักเรียน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 63.81 ส่วนนักเรียนจากครัวเรือนทั่วไป เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 4 คนจากจำนวนนักเรียน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 73.2

“กสศ. สำรวจสถานะความยากจนของนักเรียนด้วยการอ้างอิงจากเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน รายได้ต่อหัวประชากรโดยเฉลี่ย 19,348 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสำรวจเด็กอายุ 3-14 ปี หรือมีการศึกษาในช่วงอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคร้อยละ 66.02 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านจอโทรศัพท์มือถือขนาดประมาณ 3 นิ้วเท่านั้น อุปกรณ์มีความเสี่ยงสูงเรื่องคุณภาพ เช่น แบตเตอรี่ร้อนเร็วต้องเสียบสายชาร์จตลอดเวลา และต้องออกไปเรียนไกลจากตัวบ้านเนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอในการติดตั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน ทำให้ต้องเดินหาสัญญาณ ขณะที่กลุ่มนักเรียนทั่วไปส่วนใหญ่ เข้าถึงได้ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและอินเทอร์เน็ตมือถือ เข้าถึงจอขนาดใหญ่อย่างแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มใช้เวลาเรียนออนไลน์เฉลี่ย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ต นักเรียนทุนเสมอภาคจะเติมเงินเฉลี่ย 75.63 บาทต่อครั้ง หนึ่งเดือนเติมประมาณ 3 ครั้ง จ่ายเฉลี่ยทั้งเดือน 235 บาท ขณะที่ครัวเรือนทั่วไปเติมเงินเฉลี่ย 2 ครั้ง ครั้งละ 355.9 บาท จ่ายเฉลี่ยทั้งเดือน 534.92 บาท นอกจากสัดส่วนรายจ่ายกับรายได้จะห่างกันหลายเท่าตัวแล้ว ความแตกต่างของราคายังมีผลต่อความเร็วอินเทอร์เน็ต ส่วนอุปสรรคเรื่องการเติมเงิน นักเรียนทุนเสมอภาคส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางไปเติมเงินตามร้านค้าได้ เนื่องจากมีค่าเดินทาง ตู้เติมเงินจึงเป็นทางเลือกสะดวกที่สุด แต่ก็มีต้นทุนสูงจากค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บแบบขั้นบันได เช่น เติมเงิน 10 บาท จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตจริงเพียง 8 บาท อีก 2 บาท ถูกหักเป็นค่าธรรมเนียมบริการ หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของเงินที่จ่าย ซึ่งหากเติม 1,000 บาท ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 50 บาท หรือร้อยละ 0.5 เท่านั้น โครงสร้างราคาดังกล่าวสะท้อนว่า ยิ่งเด็กมีรายได้น้อยยิ่งแบกรับภาระค่าธรรมเนียมเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูง ส่วนเด็กเศรษฐฐานะดีได้จ่ายในสัดส่วนที่ถูกกว่า

“ในฐานะผู้บริโภค เด็กรู้แค่ว่าเน็ตหมดก็เติม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าความไม่สมมาตรของข้อมูล ผู้บริโภคไม่รู้ราคาที่แท้จริงว่าต้องเติมเท่าไรให้สามารถเรียนได้จนหมดสัปดาห์ ไม่รู้ว่าจะหาราคาที่ดีที่สุดหรือเลือกโปรโมชันที่ดีที่สุดในเวลานั้นอย่างไรให้ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แรงที่สุด ต้องจำนนต่อข้อจำกัดทางบริการเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรื่องนี้ต้องช่วยกันขบคิดเพื่อหาแนวทางให้เกิดความเสมอภาคต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าวดร.ไกรยส กล่าวข้อเสนอนโยบายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 1.)คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม สนับสนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กเยาวชนวัยเรียนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สร้างความสมมาตรของข้อมูลค่าบริการให้มีทางเลือกการเข้าถึงด้วยราคาที่เป็นธรรม มีมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภค 2.)ผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม สนับสนุน Sim/e-Sim เด็ก แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-18 ปี) ให้ได้รับโครงสร้างราคาถูกสุดในตลาด สนับสนุนการเข้าถึงโปรแกรมและช่องทางการศึกษาที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ได้ฟรี สนับสนุนอุปกรณ์เข้าถึง เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีการ Trade-in ในโปรโมชันเครื่องเก่าแลกใหม่ที่ยังสามารถใช้งานได้ ให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่ยังไม่มีอุปกรณ์ 3.)ผู้ให้บริการเติมเงินอินเทอร์เน็ต ลดค่าธรรมเนียมการเติมเงินให้แก่เด็กเยาวชนผู้ใช้ Sim/e-Sim เด็ก ให้ต่ำที่สุดจากปัจจุบันคิดราคาสูงถึงร้อยละ 20 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลบริการและการเข้าถึงสายด่วนคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภค โดย กสศ. สามารถชี้เป้าเพื่อให้เกิดการสนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนผ่านการสนับสนุนของรัฐบาล หรือหน่วยงานเอกชนที่มีความต้องการเข้ามาสนับสนุนนักเรียนกลุ่มดังกล่าว

ภายหลังเปิดผลสำรวจข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ดร.ไกรยส ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “หยุดความเหลื่อมลํ้าทางดิจิทัล รวมพลังทุกฝ่ายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมวิเคราะห์ข้อมูลและให้ข้อเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าผลสำรวจข้างต้นของ กสศ. มีความละเอียดและเจาะลึกเพียงพอสำหรับนำไปออกแบบแนวปฏิบัติที่เหมาะสม โดยมองว่า ความสามารถในการเข้าถึงสมาร์ตโฟนกว่าร้อยละ 60 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ด้านประสิทธิภาพการเรียนรู้ มีเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเนื่องจากอินเทอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แนวทางแรกคือต้องมีการแข่งขันตามกลไกตลาด เพื่อนำไปสู่บริการที่ดีและราคาถูกที่สุด

“บางคนอาจมองว่าโควิด-19 เป็นโจทย์ชั่วคราว แต่ความจริงเชื่อว่าการเรียนแบบไฮบริดจ์ที่มีทั้งไปโรงเรียนและหาความรู้ด้วยตัวเองจะเป็นโจทย์ระยะยาว เวลานี้มีประเด็นเรื่องของการควบรวมของบริษัทมือถือค่ายใหญ่ โอกาสที่จะถูกผูกขาดจึงมีมากขึ้น คนที่เคยจ่ายได้ตอนนี้อาจจ่ายไม่ได้ในอนาคต จึงหวังว่า กสทช. จะโหวตให้ไม่มีการควบรวมเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ประเด็นต่อมา กสทช. มีกองทุนและกลไกตามกฎหมาย มีเงินจากการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจาก กสศ. ทำให้รู้ว่าใครคือคนมีรายได้น้อย การช่วยเหลือระบุได้ว่าใครควรได้ กสทช. ต้องเอาเงินจากกองทุนหรือจากกระทรวงศึกษาไปช่วยเหลือ หรือออกแบบให้ผู้ประกอบการมาแข่งขันเพื่อให้บริการเด็กกลุ่มนี้เช่น ใครอยากช่วยสามารถแจ้ง กสทช. ว่าจะให้หัวละเท่าไร จะทำให้บริการถูกลงหรือฟรีได้ นอกจากนี้เรื่องอุปกรณ์มือสองที่ กสศ. เสนอ ถือว่าเป็นประโยชน์ ควรมีกลไกรวบรวมโทรศัพท์มือสอง แท็บเล็ตมือสอง คอมพิวเตอร์มือสอง ไปสนับสนุนนักเรียน ต้องมีเจ้าภาพรวบรวมและจัดสรร”

ด้าน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. กำลังพัฒนาชุดนโยบาย Universal Service Obligation หรือการบริการอย่างทั่วถึงให้กับกลุ่มคนพิการ จากข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนยากจนพิเศษโดย กสศ. ทำให้ กสทช. สนใจขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยจะนำข้อมูลและข้อเสนอจากเวทีนี้ไปพัฒนานโยบายการจัดบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมบนหลักความเสมอภาคทางการศึกษา
“การลงไปสำรวจของ กสทช. เอง พบความเป็นจริงคล้ายกัน ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของลูกสูง เป็นสิ่งที่เกิดจากโควิด-19 ไปซ้ำเติมคนจน ซึ่งในช่วงต้นของการระบาด กสทช. เคยช่วยสนับสุนนักเรียนยากจนแต่ทำในระยะสั้นเพียง 2 เดือน ซึ่งทาง กสทช. มีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และกลไก กสทช. มาตรา 17 มีเรื่องการจัดบริการให้ทั่วถึง ภาวะการณ์นี้อยู่ในแผนที่ 3 มีกำหนดเวลา 1 ปี และกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำแผนที่ 4 เป็นระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปบรรจุในแผน” นายต่อพงศ์ กล่าว

สำหรับประเด็นค่าธรรมเนียมตู้เติมเงิน นายต่อพงศ์ ระบุว่า เห็นตรงกันกับ กสศ. ว่าคือปัญหาใหญ่ โดยขอถือโอกาสรับข้อเสนอนโยบายแบบมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสื่อสารต่อกับคณะกรรมการบริหาร กสทช. เพื่อทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง และเตรียมเชิญ กสศ. ไปนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับออกแบบแนวทางสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัลร่วมกันต่อไป