“กลุ่มธนชาต” ยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทุนธนชาต-ราชธานีลิสซิ่ง คว้าผลประเมินระดับดีเลิศ 5 ดาว เผย 14 บริษัทในกลุ่มยังผ่านการรับรองเป็นแนวร่วมต่อต้านการทุจริตด้วย

0
1679

“กลุ่มธนชาต” กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของไทยที่ให้บริการมานาน 4 ทศวรรษ นอกจากจะมีความโดดเด่นในด้านความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการยึดมั่นนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อมั่นว่า กระบวนการจัดการที่ดี มีความโปร่งใสและมีมาตรฐานสากลจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมโดยทั่วถึง สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับนานาประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่องค์กร

นายสมเจตน์  หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  กลุ่มธนชาตได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมด้วยคู่มือจรรยาบรรณภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับองค์กร กรรมการ ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานทุกระดับ ให้ยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องทำให้เกิดผลดีต่อสังคมและภาครัฐ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และสภาพแวดล้อม
  • กำหนดผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ด้วยความเหมาะสมและยุติธรรม
  • ให้บริการลูกค้าด้วยคุณภาพ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่เหมาะสม
  • รับผิดชอบต่อลูกค้าและคู่ค้าในการให้บริการ
  • ดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าด้วยความซื่อตรง ไม่เอารัดเอาเปรียบ และปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกันไว้
  • ดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับคู่แข่งขันด้วยความโปร่งใส ภายใต้กฎกติกา โดยไม่แข่งขันจนทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจโดยรวม
  • สนับสนุนให้พนักงานมีความรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • มีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลลัพธ์จากการยึดมั่นนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้ล่าสุด บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ  TCAP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธนชาต และบริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)   บริษัทในกลุ่มธนชาต ได้รับผลการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับ “ดีเลิศ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด มีอยู่เพียง 177 บริษัท และได้รับตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ 5 ดาว จาก “โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2562 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2019 หรือ CGR)” ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย สำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสิ้น 677 บริษัท

นอกจากนั้น บมจ. ทุนธนชาต และ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง ยังได้รับคะแนน 97 และ 100 คะแนนตามลำดับ ใน“โครงการการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562” (AGM Checklist) จัดโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีอีกด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มธนชาตมีความยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนร่วมหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มีการกำหนดนโยบาย  มาตรการ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริหารตลอดจนพนักงานทุกระดับปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมองค์กร (Core Value) อาทิ การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส งดให้หรือรับของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรองต่างๆ รวมถึงมีช่องทางการแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น ส่งผลให้ 14 บริษัทในกลุ่มธนชาต ประกอบด้วย  บมจ.ทุนธนชาต บมจ.ธนาคารธนชาต บมจ.หลักทรัพย์ธนชาต บมจ.ธนชาตประกันภัย บลจ.ธนชาต  บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง บจก.ธนชาตโบรกเกอร์ บจก.ธนชาตเทรนนิ่ง แอนด์ ดี เวลลอปเมนท์ บจก.บริหารสินทรัพย์ ทีเอส บจก.บริหารเอ็น เอฟ เอส บจก.บริหารสินทรัพย์แม็กซ์  บมจ. เอ็ม บี เคไลฟ์ ประกันชีวิต บจก. ที เอ็ม โบรคเกอร์ บจก. เอ็ม ที เซอร์วิส 2016 ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ซึ่งแต่ละองค์กรจะต้องเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อแสดงจุดยืนว่า จะร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และทำการประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น (Self-Evaluation Tool for Countering Bribery) ตามข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของความถูกต้อง ครบถ้วน และมีเอกสารอ้างอิงต่างๆ นอกจากนั้น ยังได้ส่งต่อแนวทางการดำเนินการไปสู่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เช่น คู่ค้า ลูกค้า เพื่อให้รับทราบและร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อเป็นพลังที่จะช่วยผลักดันให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศสัมฤทธิ์ผลต่อไป