“กรุงไทย” ผลประกอบการปี 65 แข็งแกร่ง กำไรสุทธิ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 64%

0
511

“ธนาคารกรุงไทย” เผยผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง กำไรสุทธิปี 2565 เท่ากับ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีที่ผ่านมา และกำไรไตรมาส 4 ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี โดยสินเชื่อเติบโตอย่างสมดุล รายได้ดอกเบี้ยเติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย เดินหน้าดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางปรับตัวรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนกดดันราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้า เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว พร้อมดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 56.1 สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ เติบโต ร้อยละ 4.3 จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.68 ลดลงจากร้อยละ 45.54 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.26 ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับร้อยละ 3.50 อีกทั้ง พิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงร้อยละ 25.2 จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7 เทียบกับร้อยละ 168.8 เมื่อสิ้นปี 2564
ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.0 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30 ลดลงจาก ร้อยละ 49.16 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.5 โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูง
เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.9 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังพร้อมกับการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.26 และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30

ณ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.50 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 19.68 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมทดแทนตราสารด้อยสิทธิที่ไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนดเพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 2565 ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในด้านการชำระเงิน พัฒนา “เป๋าตังเปย์” เป็นซูเปอร์วอลเล็ตสำหรับคนรุ่นใหม่ เติมเต็มฐานลูกค้าให้ตอบโจทย์ทุกฐาน จับมือพันธมิตรทำ โครงการ “Point Pay” นำคะแนนสะสมของพันธมิตรทั้ง AIS บางจาก และ MAAI by KTC มาใช้จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าถุงเงินทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสขายสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับร้านค้าถุงเงินซึ่งเป็นร้านค้าขนาดเล็ก การออมและการลงทุน ธนาคารประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทำสถิติขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว โดยในปี2565 เสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัลทั้งหมด 8 รุ่น วงเงินรวม 26,000 ล้านบาท พันธบัตรวอลเล็ต สบม. เปิดขาย 2 รุ่น วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท และ Gold Wallet ซึ่งมีพันธมิตรร้านทองชั้นนำ 3 ร้าน คือ MTS Gold แม่ทองสุก วายแอลจี และออโรร่า มีลูกค้าเปิดบัญชีแล้ว 150,000 บัญชี สนับสนุนบริการภาครัฐ ร่วมกับ “ศาลยุติธรรม” เปิดบริการ “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” ฟ้องออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง จับมือ “กรมศุลกากร” ต่อยอด Customs Trader Portal ให้นิติบุคคลลงทะเบียนออนไลน์ และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกของประเทศ จับมือ “กรมบัญชีกลาง” เปิดตัวบริการ e-GP Transformation for Thailand’s Future และพัฒนาบริการเชื่อมสิทธิข้าราชการเข้ากระเป๋าสุขภาพแบบเรียลไทม์ ร่วมกับ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” MOU ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สำคัญธนาคารยังพัฒนาบริการสำหรับผู้พิการทางสายตาผ่านตู้ ATM ให้สามารถเข้าถึงบริการทางเงินได้สะดวก เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ ทำให้ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์ม โดยสิ้นปี 2565 มีผู้ใช้บริการแอปฯเป๋าตังกว่า 40 ล้านคน Krungthai NEXT 16 ล้านคน Krungthai Connext 18 ล้านคน และแอปฯ ถุงเงิน 1.7 ล้านร้านค้า
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 Krungthai Compass คาดว่า จะขยายตัวได้ในระดับ 3.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง สนับสนุนการปรับตัวรองรับกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเดิมหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกมิติ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นทุกวัน ยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล(ESG) โดยนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานทุกด้าน อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”