กรุงไทยชี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งยกระดับประสิทธิภาพด้วย Industrial Internet of Things (IIoT) 

0
1394

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งผนวกเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) ยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนในการดูแลเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี เสนอแนะ 8 กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งมีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักร 1.12 แสนล้านบาทต่อปี ปรับตัวเป็นกลุ่มแรก ขณะที่ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับมาตรการสนับสนุนให้ SMEs ใช้ IIoT มากขึ้น

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง เนื่องจากตอบโจทย์แนวคิด Digital Lean Manufacturing ที่เน้นลดการสูญเปล่าในทุกขั้นตอนการผลิต อีกทั้งยังมีปัจจัยเร่งสำคัญจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานเมื่อเผชิญกับภาวะการผลิตหยุดชะงัก (Supply chain disruption) แนวโน้มการเติบโตของเมกะเทรนด์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ McKinsey ประเมินว่าการลงทุนใน IIoT ทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาคอุตสาหกรรมโลกก้าวสู่ยุค Industry 4.0 อย่างเต็มตัวและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบ Real time ตลอดจนการวิเคราะห์คุณภาพและการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ค่าติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร ที่กรณีของไทยมีมูลค่าถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี ลดลง

“เราเริ่มเห็นตัวอย่าง Use case การนำ IIoT มาใช้ในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และพิสูจน์แล้วว่า IIoT ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงมากถึง 30% ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงควรเร่งผนวก IIoT ในโรงงานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยราว  60% ยังอยู่ในระดับ Industry 2.0 เท่านั้น ขณะที่มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ IIoT เช่น ต้นทุน Sensor และ Data storage ที่ถูกลง การพัฒนา 5G ที่จะช่วยส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงมาตรการส่งเสริม Industry 4.0 จากภาครัฐ”

 นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมที่อิงกับการส่งออก 8 กลุ่ม ซึ่งฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและมีความพร้อมในการนำ IIoT มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมผักผลไม้แปรรูป ไก่แปรรูป รถยนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง คิดเป็นราว 25% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในไทย และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักรมากถึง 1.12 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มจากการศึกษาเทคโนโลยีและพิจารณา IIoT ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Industrial IoT and Data Analytics Platform (IDA) โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NETTEC) และพันธมิตร หรือสามารถติดต่อบริษัทให้บริการเชื่อมต่อระบบ (System integrator) ได้โดยตรง

“ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สู่มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs เพื่อใช้ IIoT มากขึ้น เนื่องจากความท้าทายหลักที่ SMEs กำลังเผชิญ คือ เรื่องของเงินทุน นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านความรู้และบุคลากร โดยการสนับสนุนอาจอยู่ในรูปแบบ “โครงการเงินทุนคนละครึ่ง (Co-financing)” ด้วยเป้าหมายที่ครอบคลุม SMEs มากรายและใช้ Digital platform เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องให้ SMEs สำรองจ่ายเงินไปก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างแท้จริง”