กรุงศรี เตรียมออกตราสารเงินกองทุน อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี เสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ต้นเดือนมิถุนายน 2567

0
267

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เตรียมออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทด้อยสิทธิ และไม่มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือตราสารเงินกองทุน และผู้ออกตราสารเงินกองทุนมีสิทธิไถ่ถอนตราสารเงินกองทุนก่อนกำหนด หรือ “ตราสารเงินกองทุน” อายุ 10 ปี ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.50% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยกำหนดระยะเวลาเสนอขาย 2 ช่วง ช่วงที่ 1 สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไม่รวมถึงนิติบุคคลที่เป็นสหกรณ์) ที่ถือตราสารเงินกองทุนรุ่น BAY296A เสนอขายระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย. 2567 และช่วงที่ 2 สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ทั่วไป ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. 2567 โดยธนาคารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA(tha) แนวโน้ม Stable และตราสารเงินกองทุนนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA(tha) จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะกลุ่มธุรกิจการเงินในเครือ MUFG ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มั่นใจได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างมากเช่นเคย

สำหรับการเสนอขายจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไม่รวมถึงนิติบุคคลที่เป็นสหกรณ์) ซึ่งเป็นผู้ถือตราสารเงินกองทุนรุ่น BAY296A โดยจะเสนอขายได้ในระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2567 (โดยจะให้สิทธิ BAY296A 1 หน่วยตราสารเงินกองทุน ต่อ 0.55 ตราสารเงินกองทุน BAY346A) และช่วงที่ 2 เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ (ซึ่งรวมถึงผู้ถือตราสารเงินกองทุนรุ่น BAY296A ไม่ว่าจะได้ใช้สิทธิในช่วงที่ 1 แล้วหรือไม่ก็ตาม) โดยจะเสนอขายในระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ ธนาคารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA(tha) แนวโน้ม Stable และตราสารเงินกองทุนชุดดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA(tha) จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคาร ในฐานะกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดย ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2567 ธนาคารมีสินเชื่อรวม 2 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 2 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.86 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 310.29 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.08% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.44%

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรมโดยเคร่งครัด ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงเติบโตที่ 2.7% ในไตรมาสแรกของปี 2567 นอกจากนี้ สินเชื่ออาเซียนของกรุงศรียังคงเติบโตที่ 4.0% ในไตรมาสแรกปี 2567 จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดภูมิภาคอีกด้วย

ล่าสุด กรุงศรี ยังคว้ารางวัลใหญ่ด้านความยั่งยืน “Best Bank for Sustainable Finance” จาก The Asset Triple A Awards for Sustainable Finance 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และยังคว้ารางวัล “Best Sustainable Bank” จาก FinanceAsia Awards 2024 ในฐานะธนาคารที่ให้ความสำคัญและมีบทบาทในการสนับสนุนภาคธุรกิจในเรื่องของการเงินเพื่อความยั่งยืน และมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม พร้อมรางวัลด้านความยั่งยืนจากเวทีระดับประเทศและระดับสากล ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย ผู้ให้คำปรึกษา ผู้สนับสนุนทางการเงิน และผู้จัดการเงินกู้ร่วมให้กับลูกค้าธุรกิจต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรุงศรี ในฐานะพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ เพื่อมอบโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมลูกค้าในการเปลี่ยนผ่าน ให้พร้อมก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สนใจจองซื้อตราสารเงินกองทุน จะเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และ ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา ทั่วประเทศ หรือ โทร. 1572

คำเตือน: โปรดทำความเข้าใจในลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th
หมายเหตุ: บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ