กรุงศรีจัดสัมมนาวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยหลังวิกฤติ หนุนผู้ประกอบการเตรียมแผนฟื้นธุรกิจหลัง COVID-19

0
1349

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ขับเคลื่อนกลยุทธ์เสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจแก่ลูกค้าธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk 2021 ในหัวข้อ “Thailand after COVID-19: Business Opportunities and Transformation” ที่จัดขึ้นสำหรับลูกค้าธุรกิจของกรุงศรีโดยเฉพาะ ได้แก่ ลูกค้า SME ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และผู้บริหารของกรุงศรี มาร่วมแบ่งปันความรู้และมุมมองด้านทิศทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ทั้งในมุมของกระแสเศรษฐกิจโลกและทิศทางของประเทศไทย เพื่อให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวและปรับแผนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤติ COVID-19 พร้อมรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต

นายโยชิยูกิ โฮริโอะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจากนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อการส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนด้วย Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG รวมทั้งทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยของบีโอไอ พร้อมด้วย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการและผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ทิศทางดอกเบี้ยและแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยประเด็นหลักที่เกิดขึ้นในงานสัมมนา ดร.สมประวิณ ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการที่คนเริ่มเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น และเริ่มมีการปลดล็อกในบางประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อน ในส่วนของประเทศไทยเราผ่านจุดสูงสุดของการระบาดมาแล้ว และการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 400,000 กว่าคน วิจัยกรุงศรีเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น 0.6% ซึ่งจะมาจาก 3 สาเหตุ คือ ภาคการส่งออกของประเทศไทยยังดี อีกทั้งมีมาตรการเยียวยาออกมาเรื่อยๆ และคนเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากเริ่มคลายล็อค ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นปีอัตราการติดเชื้อจะลดลงเหลือโดยประมาณ 2,500 คนต่อวัน ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีหน้ามีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นแต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะกลับมาเหมือนเดิม

นอกจากนั้น ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้มุมมองว่า อุตสาหกรรมในกลุ่ม Bio-Circular-Green หรือ BCG ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังภาวะวิกฤติ เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรด้านชีวภาพมากมายจากอุตสาหกรรมหลักด้านการเกษตรและอาหารที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นกระแสความตื่นตัวเรื่องการทำธุรกิจด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจจากหลายองค์กรทำให้มีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องสูง จึงคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมด้าน BCG จะคิดเป็น 25% ของ GDP ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปัจจัยที่เหมาะกับการพัฒนา ทั้งในด้าน Biodiversity ซึ่งมีความพร้อมอยู่ในอันดับ 15 ของโลก และอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีการส่งออกเป็นอันดับ 13 ของโลก รวมทั้งยังมี Biomass ที่เหลือจากการเกษตรถึง 40 ตันต่อปี ซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมายด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา และประเทศไทยยังมีความพร้อมในด้านฐานที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างเต็มที่ ด้วยความพร้อมเหล่านี้ทำให้มีโอกาสการพัฒนาทางธุรกิจในหลายด้าน ทั้งธุรกิจ Smart farming หรือ Plant factory ที่ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่สมุนไพรหรือวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาล FOS รวมไปถึง Novel Food อาทิ โปรตีนจากพืชและโปรตีนจากแมลง ในส่วนของอุตสาหกรรมกลุ่มไบโอพลาสติก ก็มีศักยภาพในการเติบโตและประเทศไทยยังถือเป็นแหล่งผลิตของภูมิภาคที่มีการลงทุนขนาดใหญ่และมีการขยายตัวอย่างมาก นอกจากนั้นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลก็มีคุณสมบัติพิเศษและมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาเช่นกัน

ทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านั้น ประเทศไทยนับเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยภายในปี 2030 คาดการณ์ว่า 30% ของกำลังการผลิตจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการจะพัฒนาให้ได้ตามเป้าหมายจะต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศในหลายด้าน โดยเฉพาะการมีสถานีชาร์จที่มีศักยภาพรองรับ และประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวในทุกภาคส่วน เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของไทย

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัมมนาออนไลน์เพื่อลูกค้าธุรกิจ หนึ่งในกิจกรรมจาก Krungsri Business Empowerment เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า ผู้สนใจสามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook และ Krungsri.com