กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า
เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.15 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.08-34.37 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯบ่งชี้ถึงการชะลอความร้อนแรง อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคม โดยระบุว่าผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 50bp มีความเหมาะสมสำหรับการประชุมเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ ช่วงต้นสัปดาห์ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาซึ่งเป็นกรรมการสายเหยี่ยวแต่ไม่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้ให้ความเห็นสนับสนุนการหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อประเมินผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คาดว่าอีซีบีจะยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบภายในเดือนกันยายน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 6,870 ล้านบาท และ 10,457 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการรวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ความพยายามในการบรรลุข้อตกลงร่วมกันของยุโรปเพื่อใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม รวมถึงการกลับมาเปิดหลายเขตเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้ โดยในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯให้ความหวังว่าอัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและผู้ร่วมตลาดทบทวนการคาดการณ์ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสำหรับช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สูญเสีย momentum ด้านขาขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะตลาดการเงินที่จะตึงตัวหลังการเริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ของเฟดในเดือนมิถุนายน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องอาจจะยังคงจำกัดการฟื้นตัวของเงินบาทในระยะนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 9.9% y-o-y โดยชะลอลงมากกว่าคาด ส่วนมูลค่านำเข้าทะยานขึ้น 21.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1.91 พันล้านดอลลาร์ ทางการประเมินแนวโน้มสดใสต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวยังกดดัน อนึ่ง เรามีมุมมองเชิงบวกต่อเงินทุนไหลเข้าขณะตลาดคลายกังวลเรื่องนโยบายเฟดในช่วงสั้นแต่ต้องระวังกระแสเงินร้อนที่จะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงิน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ติดต่อ นางสาวรุ่ง สงวนเรือง
อีเมล:Roong.Sanguanruang@krungsri.com
โทร. 66 (0) 22965898