กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 34.50-34.85 ติดตามความเห็นประธานเฟด

0
1459

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า
เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.76 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.40-34.78 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกเหวี่ยงตัวผันผวนหลังสินทรัพย์ดิจิตัลเผชิญแรงเทขายรุนแรง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้แต่ชะลอตัวจาก 8.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการทะยานขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี โดยข้อมูลชุดนี้ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปแต่พร้อมจะแบ่งรับแบ่งสู้มากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่จะยังไม่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 2,886 ล้านบาท และ 1,759 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า ตลาดจะติดตามความเห็นของประธานเฟดและยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 50bp ในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน ทางด้านเงินเยนอาจฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องหากบอนด์ยิลด์ของสหรัฐฯ ย่อตัวลงหรือแกว่งตัวในลักษณะย่ำฐานและไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ของรอบท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจจีนและสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกซึ่งกดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนเงินยูโรอาจเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำต่อไปแม้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ แต่การสู้รบยังคงยืดเยื้อและวิกฤติราคาพลังงานยังไม่มีสัญญาณคลี่คลายลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ จีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 2.5-3.5% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกเป็นขยายตัว 7.3% ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการอ่อนค่าของเงินบาทมีผลต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในภาพรวมค่อนข้างจำกัด และการดำเนินนโยบายของธปท.ยังคงให้น้ำหนักไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก อนึ่ง กรุงศรีมองว่าแม้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มมีสัญญาณไหลออกต่อเนื่องมากขึ้นในเดือนนี้ แต่หากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงพักตัว การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในระยะนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ติดต่อ นางสาวรุ่ง สงวนเรือง
อีเมล:Roong.Sanguanruang@krungsri.com
โทร. 66 (0) 22965898