กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.80-33.15 จับตา กนง., ข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

0
1582

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.15 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.86 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.83-32.99 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือน ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมเงินบาทอ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในกลุ่ม เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.25% และมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างน้อย 80,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนรวมถึงหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Securities) 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป โดยเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มสูงขึ้น และเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการที่เฟดเน้นย้ำว่าการปรับขึ้นของเงินเฟ้อสะท้อนปัจจัยชั่วคราว อีกทั้งเฟดจะยังคงประเมินความคืบหน้าต่อการบรรลุเป้าหมายของเฟดในการประชุมรอบต่อๆไป อย่างไรก็ดี ความผันผวนของตลาดหุ้นจีนฉุดรั้งบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2,842 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรมูลค่า 2,576 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนที่เฟดจะลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อนึ่ง จากท่าทีล่าสุดของเฟด กรุงศรีคาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยลงที่เฟดจะปรับลดมาตรการเข้าซื้อตราสารทางการเงินในการประชุมเดือนกันยายน ส่วนตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมจะต้องออกมาสูงเกินคาด ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯจึงจะสามารถดีดตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอังกฤษในสัปดาห์นี้เช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 4 สิงหาคม และแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจไทยที่เปิดกว้างมากขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงยืดเยื้อ การขยายมาตรการควบคุมโรคและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเปราะบางของตลาดแรงงาน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าเป้าหมาย ส่วนข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะยังคงบ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในที่อ่อนแอ