กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดทรงตัวที่ 31.26 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 31.13-31.28 บาท/ดอลลาร์ โดยในเดือนพฤษภาคม เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง 0.3% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางสกุลเงินภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นยกเว้นริงกิตมาเลเซีย เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยในช่วงแรกข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯหลายรายการที่ออกมาสดใสเกินคาดหนุนเงินดอลลาร์ขึ้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯย่อตัวลงท้ายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดคลายความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 5,192 ล้านบาท และ 9,223 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) วันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายไว้ตามเดิมแต่มีโอกาสที่จะส่งสัญญาณชะลอการซื้อสินทรัพย์ในการประชุมเดือนกันยายน หลังอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับบอนด์ยิลด์ ค่าเงิน และราคาทองคำในตลาดโลกเช่นกัน อนึ่ง กรุงศรีมองว่าตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ยังคงสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ร้อนแรงเกินไป ทำให้ตลาดเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและขายเงินดอลลาร์จากการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะยังไม่เผชิญแรงกดดันให้เร่งปรับนโยบายการเงิน โดยภาวะ Sweet Spot ดังกล่าวจะถูกทดสอบด้วยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 2.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากต้นทุนราคาน้ำมันและอาหารสด แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงเป็นผลของมาตรการลดค่าครองชีพจากภาครัฐ ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.49% โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นในกรอบ 0.7-1.7% ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายนขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์ โดยขาดดุลเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่เศรษฐกิจเดือนเมษายนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด โดยธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ในไตรมาส 1/66 อันสนับสนุนมุมมองของกรุงศรีที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดปี 2565 เป็นอย่างน้อย