กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 29.90-30.15 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 29.97 ต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก ขณะที่ว่าที่รัฐมนตรีคลังและอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เจเน็ต เยลเลน ระบุถึงว่าประโยชน์ของมาตรการเยียวยาขนาดใหญ่มีมากกว่าต้นทุนภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)เตือนว่าการติดเชื้อ COVID-19 ที่พุ่งขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยอีซีบีมีมติคงดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ระดับติดลบ 0.50% และคงโควต้าสำหรับการซื้อพันธบัตรในโครงการฉุกเฉินจากสถานการณ์โรคระบาด(PEPP) ไว้ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร พร้อมส่งสัญญาณออกมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.6 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 7.2 พันล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ในสัปดาห์นี้จุดสนใจหลักของตลาดจะอยู่ที่การประชุมเฟดวันที่ 26-27 ม.ค. ซึ่งคาดว่าการสื่อสารกับตลาดเพื่อเน้นย้ำคำมั่นที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งความเห็นของเฟดที่มีต่อการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯนับตั้งแต่ต้นปีจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/63 ของสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการผลักดันมาตรการกระตุ้นทางการคลังซึ่งประธานาธิบดีไบเดนเคยเสนอไว้สูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่กรุงศรีคาดว่าจะมีการลดทอนขนาดของมาตรการลงในที่สุด ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจย่ำฐานช่วงสั้นเพื่อรอความชัดเจนต่อไป
สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการส่งออกขยายตัว 4.71% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 22 เดือน ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่าส่งออกลดลง 6.01% ขณะที่ยอดนำเข้าหดตัว 12.39% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกในปี 2564 นี้จะเติบโตได้ 4% ส่วนทางด้านรัฐมนตรีคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% แม้เผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ โดยคาดว่าการแพร่ระบาดรอบนี้จะควบคุมได้ภายในเดือน มี.ค. ขณะที่มีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของภาคส่งออก และกระจายวัคซีน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัว นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำมากแล้ว และมองว่าการคงดอกเบี้ยควรดำเนินต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ส่วนประเด็นค่าเงิน ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเสถียรภาพเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนได้