กรมวิทย์ฯ เผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย พบสายพันธุ์ A(H1N1) มากที่สุด แต่ไม่พบยีนที่บ่งชี้การดื้อยา

0
127


นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ระบาดมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนตามลำดับ โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567–ปัจจุบัน ทั่วโลกพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria Lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมจากทั่วโลก พบว่า


– ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pmd09 พบสัดส่วน 44.12 % เป็นสายพันธุ์ A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 สัดส่วน 10.17 % และ clade 6B.1A.5a.2a สัดส่วน 89.83 %
– ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบสัดส่วน 33.82 % ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วน 100 %
– ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วน 12.5 % โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria clade VIA.3a.2
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน พบว่าไข้หวัดใหญ่ A(H1N1) pdm09 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 54.02 % รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) 25.43 % และ ชนิด B(Victoria) มีสัดส่วน 20.56 % ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย (1 มกราคม 2567 – ตุลาคม 2567) ด้วยการตรวจพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกประกาศสำหรับซีกโลกใต้ พบสายพันธุ์ที่กระจายในประเทศไทยมีพันธุกรรมสอดคล้องกับสายพันธุ์ในวัคซีน

  • ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1) พบในประเทศไทยช่วงมกราคม 2567 ถึงตุลาคม 2567 ในสัดส่วน 1.72 % ส่วน clade 6B.1A.5a.2a พบสัดส่วนมากกว่า 90% เช่นเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก
  • ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 และสายพันธุ์ B/Victoria lineage-like virus พบในประเทศไทยสัดส่วน 100%
    นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการผลิตเอนไซม์นิวรามินิเดส (Neuraminidase:NA) จากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประจำเดือนตุลาคม 2567 จำนวน 63 ตัวอย่าง (อ้างอิงข้อมูลการกลายพันธุ์
    จากองค์การอนามัยโลก 7 มีนาคม 2566) พบว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H3, A(H1N1) pdm09 และชนิด B ไม่พบการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้การดื้อยา ชี้ให้เห็นว่าเชื้อทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ยังคงตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ดี
    “การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการดื้อยาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอเน้นย้ำว่า สายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยมีพันธุกรรมที่สอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง”