กรมวิทย์ฯ เปิดเผยผลตรวจวัตถุกันเสียในอาหารประเภทเส้น

0
1367

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูล ผลตรวจวิเคราะห์พบกรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ในปริมาณสูงตั้งแต่ 1,079-17,250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั้น เป็นข้อมูลเมื่อปี 2550 ซึ่งสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการตรวจวิเคราะห์อาหารของประเทศ ได้มีการตรวจวิเคราะห์เฝ้าระวังการใช้วัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิคและ กรดซอร์บิค) ในอาหารประเภทเส้นมาอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ เส้นก๋วยจั๊บ เส้นบะหมี่ เส้นยากิโซบะ เส้นอุด้ง วุ้นเส้น เส้นราเมน เส้นพาสต้า และเส้นสปาเก็ตตี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนเมษายน 2565 จำนวน 240 ตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิก 117 ตัวอย่าง เกินมาตรฐาน 29 ตัวอย่าง ส่วนกรดซอร์บิกเกินมาตรฐาน 23 ตัวอย่าง และพบกรดทั้งสองชนิด เกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่าง
ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ได้แก่ เส้นก๋วยจั๊บ คิดเป็นร้อยละ 62.5 และเส้นราเมน คิดเป็นร้อยละ 42.9 ส่วนตัวอย่างที่ไม่พบการใช้วัตถุกันเสียทั้งสองชนิด ได้แก่ เส้นบะหมี่ และวุ้นเส้น ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การผลิตอาหารประเภทเส้น บางชนิดมีการใช้วัตถุกันเสีย เพื่อช่วยยับยั้ง การเจริญเติบโต หรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสีย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกรดเบนโซอิกทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย แต่หากได้รับในปริมาณน้อยร่างกายสามารถขับออกไปได้ ซึ่งข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรและองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (The joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives, JECFA) ได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (ADI) พบว่า มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อย อย่างไรก็ตามวัตถุ กันเสียทั้งสองชนิดมีข้อกำหนดการใช้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) สำหรับกรดเบนโซอิกให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารประเภทเส้นที่ผ่านกระบวนการต้ม การนึ่ง การปรุงให้สุกการพรีเจลาทิไนซ์ (Pre-gelatinized) หรือแช่เยือกแข็ง และเส้นแบบกึ่งสำเร็จรูป ส่วนกรดซอร์บิกให้ใช้ได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เฉพาะอาหารประเภทเส้นแบบกึ่งสำเร็จรูป


“เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังคุณภาพและ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเส้นที่ทำจากแป้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาผู้ผลิตให้มีความรู้ความเข้าใจการใช้วัตถุกันเสียอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ อย.กำหนด ซึ่งผู้ผลิตจะต้องควบคุมกระบวนการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน GMP สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ สะอาด ถูกสุขอนามัย และไม่ควรรับประทานอาหารซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว