นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในปัจจุบันจากทั่วโลก พบว่า
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 พบสัดส่วนร้อยละ 54.63 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 ร้อยละ 13.3 และ clade 6B.1A.5a.2a ร้อยละ 86.7
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบสัดส่วนร้อยละ 24.01 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วนร้อยละ 99.38 clade 3C.2a1b.2a.2a.3b ร้อยละ 0.41 และ clade 3C.2 ร้อยละ 0.21
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วนร้อยละ 21.27 โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria จัดอยู่ใน clade VIA.3a.2 ร้อยละ 99.77 และ clade VIA.3 ร้อยละ 0.23
สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (pdm09) มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.46 รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด B(Victoria) และไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) มีสัดส่วนร้อยละ 34.86 และ 25.68 ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole genome sequencing วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่า
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วนร้อยละ 21.27 โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria จัดอยู่ใน clade VIA.3a.2 ร้อยละ 99.77 และ clade VIA.3 ร้อยละ 0.23
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 พบการกระจายของ clade 6B.1A.5a.2a มากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 86.75 ในขณะที่ clade 6B.1A.5a.2a.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 13.25 สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบเป็น clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วนร้อยละ 100
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B พบเป็นสายพันธุ์ B Victoria สัดส่วนร้อยละ 100
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า องค์การอนามัยโลกประกาศสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับซีกโลกใต้ ปี 2025 ดังนี้ - ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 คือ A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1)
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) คือ A/Croatia/10136RV/2023-like virus (3C.2a1b.2a.2a.3a.1)
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B คือ B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus)
จากการประเมินความสอดคล้องสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศไทยกับสายพันธุ์วัคซีน ปี 2025 พบดังนี้ - ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 (ร้อยละ 13.25) สอดคล้องกับ สายพันธุ์วัคซีน ปี 2025 “A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1)” โดยสายพันธุ์ส่วนใหญ่ 6B.1A.5a.2a (ร้อยละ 86.75) อาจมีความแตกต่างทางพันธุกรรมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์วัคซีนที่กำหนด
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) และ ไข้หวัดใหญ่ชนิด B พบเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 และ Victoria lineage ตามลำดับ เมื่อประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปี 2025 พบสอดคล้องตรงกัน
“เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่แยกได้จากตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปอดอักเสบ ที่ส่งมายังห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 พบยีนบ่งชี้ต่อการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 ร้อยละ 1.9 ส่วนเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิด A(H3N2) และไข้หวัดใหญ่ชนิด B ยังไม่พบยีนบ่งชี้ต่อการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นหลัก ดังนั้นการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาจึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ในการจัดทำคำแนะนำการเลือกใช้ยาให้เกิดประสิทธิผล ตลอดจนการวางแผนสำรองยาต้านไวรัสที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอเน้นย้ำว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังสามารถป้องกันสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง” นายแพทย์ยงยศ ทิ้งท้าย
** 25 กุมภาพันธ์ 2568