กรมวิทย์ฯ จัดงานมหกรรม DMSc R2R Forum 2022 :  R2R สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

0
1365

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรม DMSc R2R Forum 2022 : R2R สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (R2R to Sustainable Development) ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นองค์กรหลักด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมา 80 ปีแล้ว มีองค์ความรู้ที่สำคัญสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ถือเป็นงานสำคัญที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข อาทิ  งานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านชันสูตรโรค ด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ และมีสายงานสนับสนุน ประกอบด้วย ระบบคุณภาพ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนากลยุทธ์และงบประมาณ การคลังและพัสดุ รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่าน​มา ประเทศไทยได้เผชิญต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างหนักหน่วง แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย Routine to Research หรือ R2R ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำองค์ความรู้         ที่สะสมไว้มาพัฒนาและสร้างนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยความรู้ที่เกิดจาก R2R เป็นความรู้ขององค์กร  ที่ทุกคนอาจจะไม่รู้ทั่วถึงหรือสะสมจากการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่มีตำราเล่มไหนสอน ดังนั้นการที่ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ R2R จึงเป็นการจัดการความรู้ เพื่อให้บุคลากรสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่มีสิ้นสุด

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การจัดงานมหกรรม DMSc R2R Forum 2022 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการถอดบทเรียนและสื่อสารแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนางานประจำสู่การวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้ทั้งบุคลากรภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการ รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการพัฒนางาน พัฒนาหน่วยงาน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ 

การจัดงานครั้งนี้ในรูปแบบผสมผสานทั้ง Online และ Onsite ไม่เสียค่าลงทะเบียน มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งจากส่วนกลาง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานเครือข่ายห้องปฏิบัติการ จำนวนกว่า 500 คน ทั้งนี้มีผู้ที่สนใจเข้าร่วม  ส่งผลงานประกวดประเภทการนำเสนอผลงานด้วยวาจา (Oral Presentation) จำนวนทั้งสิ้น 90 เรื่อง แบ่งเป็น  ด้านคุ้มครองผู้บริโภค 30 เรื่อง ด้านชันสูตรโรค 13 เรื่อง ด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ 14 เรื่อง และด้านภารกิจสนับสนุน 33 เรื่อง” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว