
วันนี้ (21 มกราคม 2568) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ผลิตภัณฑ์สารเคมีฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายและยุงลายสายพันธุ์ต้านทานสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์” ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ บริษัท เอส บี แอล ซัพพลาย กรุ๊ป จำกัด

โดยมี นางพิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายสมบูรณ์ เลิศเดชะชัย กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท เอส บี แอล ซัพพลาย กรุ๊ป จำกัด ร่วมลงนาม และมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่าย เป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงปัญหาการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีของยุงลาย ซึ่งมีผลในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย ในแต่ละปีพบผู้ป่วย เป็นจำนวนมาก
โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะหลักในการนำโรค การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยโดยวิธีการพ่นแบบฟุ้งกระจาย (Space spray) ด้วยเครื่องพ่นหมอกควัน (Thermal fogger) เป็นวิธีควบคุมยุงลายที่ช่วยลดจำนวนยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างรวดเร็ว ในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค อย่างไรก็ตามการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีของยุงลายจากการใช้สารเคมีในกลุ่มเดิมซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน (เช่นกลุ่มไพรีทรอยด์) พบว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การควบคุมยุงลายโดยการใช้สารเคมีมีประสิทธิภาพลดลง

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า นักวิจัยจากกลุ่มกีฏวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ให้บริการการทดสอบประสิทธิภาพทางชีววิเคราะห์ของผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนและทางสาธารณสุข โดยการทดสอบตามวิธีมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025:2017 ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารเคมีประเภทฉีดพ่นหมอกควันสำหรับการควบคุมยุงลายที่มีความต้านทาน ต่อสารเคมีกำจัดแมลง โดยได้ทำการศึกษาถึงความไวต่อสารเคมีกำจัดแมลงและระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในการทำลายฤทธิ์ ของสารเคมีของยุงลายบ้าน รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพและอัตราการใช้ที่เหมาะสมของสารเคมีประเภทฉีดพ่นหมอกควัน ในสูตรต่างๆ (รวม 25 สูตร) จนได้ 1 สูตรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นอัตราการใช้ที่ต่ำที่สุด ที่ยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดยุงลายบ้านที่มีความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์

โดยสูตรสารเคมีของผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการทดสอบภาคสนาม พบว่ามีประสิทธิภาพในการลดจำนวนยุงลายในพื้นที่ชุมชนที่ยุงลายมีการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ได้มากกว่าร้อยละ 80 สูตรผลิตภัณฑ์นี้สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ในการนำไปใช้ฉีดพ่นควบคุมและกำจัดยุงลายในพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งสูตรดังกล่าวได้จดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย และเปิดให้ผู้สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปผลิต เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนหรือผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงง่าย สะดวก โดยในวันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับบริษัท เอส บี แอล ซัพพลาย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์สารเคมีฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายและยุงลายสายพันธุ์ต้านทานสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ เพื่อให้บริษัทสามารถผลิต เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของคนไทย และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้
ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานสาธารณสุข หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่ควบคุมยุงที่เป็นพาหะ นำโรคต่างๆ ในการนำไปใช้พ่นควบคุมยุงลายในพื้นที่ในกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย