กรมควบคุมโรค แนะประชาชน เตรียมพร้อมรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน “หน้าฝนอุ่นใจ สุขภาพไทยปลอดโรค”

0
188

วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “หน้าฝนอุ่นใจ สุขภาพไทยปลอดโรค” พร้อมแนะนำประชาชนสำหรับการรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงหน้าฝนนี้

โควิด 19 แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล 23,245 ราย ปอดอักเสบ 663 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 286 ราย และเสียชีวิต 137 ราย และในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 2-8 มิถุนายน 67 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2,762 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง จึงขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก ควรแยกตัวจากผู้อื่นและปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์
ไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดการระบาดในสถานที่ปิดเป็นกลุ่มก้อนได้ เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ วัด เป็นต้น และช่วงนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 133,451 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ได้แก่ อายุแรกเกิด – 4 ปี และอายุ 5-9 ปี ขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับการป้องกันโควิด 19 และกลุ่มเสี่ยงควรรีบไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับโรงเรียน ค่ายทหาร หากมีการจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มในระยะนี้ ควรมีการคัดกรองก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มงวด หากพบผู้มีอาการป่วย ให้งดเข้าร่วมกิจกรรมและรีบไปพบแพทย์
ไข้เลือดออก คาดการณ์ปี 2567 นี้ จะเริ่มพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วย 30,353 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี จำนวน 9,085 ราย มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงการระวังไม่ให้ยุงกัด และให้สังเกตอาการบุตรหลาน ผู้สูงอายุในบ้าน หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ทานยาพาราเซตามอล เช็ดตัวแต่ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีจุดผื่นแดงตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ไข้มาลาเรีย สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 5,277 ราย ซึ่งในช่วงนี้พบผู้ป่วยมากขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี (ทั้งนี้มีรายงานจากจังหวัดที่ไม่ติดกับชายแดนบ้าง โดยส่วนหนึ่ง ติดเชื้อจากการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-44 ปี (1,559 ราย) และกลุ่มเด็ก 5-14 ปี (1,019 ราย) สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุงบริเวณนอกร่มผ้า นอนในมุ้งชุบสารเคมีทุกคืน เมื่อต้องค้างคืนในป่า สวน ไร่ และหลังกลับจากป่า 10-14 วัน หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
เห็ดพิษ ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝนทำให้มีเห็ดป่าหรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากมักแยกได้ยาก จึงทำให้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย เสียชีวิต 4 ราย ขอให้ประชาชนซื้อเห็ดมาปรุงประกอบอาหารจากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ และไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”


สำหรับโรคอื่นที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์ ได้แก่ 1) โรคฝีดาษวานร (MPOX) เริ่มพบการระบาดในไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2565 และในปีนี้คาดว่าอาจมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น โดยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 28 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 794 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 30-39 ราย (42.19%) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (775 ราย) โรคฝีดาษวานรสามารถติดต่อ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อติดเชื้อจะมีอาการ มีผื่นขึ้น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีอาการคัน กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น 2) โรคไข้หวัดนก สถานการณ์ทั่วโลกมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังในคน ได้แก่ H5N1, H5N2 และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ได้รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อจากโคนมในฟาร์ม 3 ราย สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนก หลังจากรายสุดท้ายตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แนะนำการป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก และโคนมที่ป่วย/ตาย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้มาตรวจสอบทันที และไม่ควรนำซากสัตว์ไปประกอบอาหาร หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกและโคนม มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ 3) โรคแอนแทรกซ์ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 2 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว จำนวน 65 ราย และประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองยอร์คจาการ์ตาร์ จำนวน 17 ราย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ โดยพบผู้ป่วยในคนสุดท้ายที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ปี 2560 เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง และมีประวัติสัมผัสซากแพะที่นำมาจากพม่าด้วยมือเปล่า


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หากประชาชนพบสัตว์ป่วยตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดำเนินการสอบสวนโรคทันที ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น การล้างมือ กินอาหารปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยตาย จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกและโรคแอนแทรกซ์ได้