กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในช่วงนี้ พร้อมแนะวิธี “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค” ปี 2567

0
348

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคต่างๆ ที่อาจเกิดการระบาดขึ้น หรือโรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงโรคและภัยสุขภาพที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน พร้อมแนะวิธี “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค” ปี 2567 แนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้ตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทางและหาทางป้องกันอย่างเหมาะสม

วันนี้ (27 มีนาคม 2567) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค” ปี 2567 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้รวบรวมสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน รวมถึงภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ ดังนี้


แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึง โรคที่อาจเกิดการระบาดในปี 2567 นี้ ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 90,000 ราย แนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือ มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง หากป่วยให้หยุดอยู่บ้านพักผ่อนจนกว่าจะหาย 2.โควิด 19 ยังคงเป็นโรคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือ มีโรคประจำตัว หากป่วยจะมีอาการรุนแรง ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 6,000 ราย เน้นประชาชนควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ 3.โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 20,590 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา) อย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.โรคหัด ในปีนี้ผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยสงสัย 503 ราย ผลยืนยันโรคหัด 214 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก 1-4 ปี แนะนำผู้ปกครองพาเด็กเล็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด 2.โรคไอกรน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยโรคไอกรนเสียชีวิตแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็ก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในหลายพื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนต่ำ แนะนำพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามกำหนด สำหรับเด็กควรรับวัคซีน DTP อย่างน้อย 3 เข็ม และควรฉีดให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป 3.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 101 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-39 ปี เน้นโดยเฉพาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากมีอาการไข้ตาแดง ผื่น ให้รีบไปพบแพทย์ 4.วัณโรค ยังคงเป็นโรคติดต่อที่อันตราย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยวัณโรค รายใหม่ 111,000 ราย ขอแนะนำกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย (รวมเด็ก) หรือไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า โรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ 1.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ อาทิเช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไวรัสตับเสบเอ และโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นต้น ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เมื่อเรารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้ป่วยเป็นโรคดังที่กล่าวมา สำหรับการป้องกัน ขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างคืนควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ทั้งนี้โรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน สามารถฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน 2.ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงนี้มีหลายพื้นที่ที่พบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชนปิดบ้านให้มิดชิด เมื่อออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM2.5 หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น ใช้เวลาอยู่ภายนอกในระยะสั้นๆ และสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ไม่ควรออกจากบ้านเพราะอาจเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น รวมถึงต้องต้องระวังอย่างมากในเด็ก เช่นกัน 3.การจมน้ำ สถานการณ์การจมน้ำยังคงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งในช่วงหน้าร้อนมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อไปใกล้แหล่งน้ำให้สวมอุปกรณ์ เช่น เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยลอยน้ำอย่างง่ายให้เด็กไว้กับตัวตลอดเวลา


นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทาง เช่น โรคแอนแทรกซ์ พบผู้ป่วยในประเทศลาว โรคไข้หวัดนก พบผู้ป่วยในประเทศกัมพูชา จีน โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิด เอ พบในประเทศญี่ปุ่น และโรคหัด พบการระบาดในทวีปยุโรปหลายประเทศ เป็นต้น หากจะเดินทางไป ควรศึกษาวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะยังคงมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422


ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 27 มีนาคม 2567