กรมควบคุมโรค เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพหน้าร้อน โดยเฉพาะโรคลมร้อนหรือ Heat stroke และโรคโควิด19 อีกโรคที่มักพบการระบาดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ พร้อมติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากกากแคดเมียม และการรั่วไหลของแอมโมเนีย

0
318
นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักต่างๆในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวในหัวข้อ “เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา”

ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ Heat stroke และโรคอื่นที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เช่น โรคโควิด 19 รวมถึงการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากกากแคดเมียม และการรั่วไหลของแอมโมเนีย โรคลมร้อน (Heat stroke) โรคดังกล่าวเกิดจากภาวะร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ในปี 2567 นี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 30 ราย ขอให้ประชาชนเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่อง ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเกลือแร่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายความร้อนได้ดี และห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที


โรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์ มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้ระมัดระวัง หากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14 – 20 เม.ย. 67) พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน พบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว และพบผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง เน้นย้ำประชาชนควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์
กากแคดเมียม เป็นธาตุโลหะหนักที่มีสีเงินแกมขาว มีคุณสมบัติเบา อ่อน ดัดโค้งได้ง่าย และทนต่อการกัดกร่อน พบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง โดยในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย และอาจพบแร่แคดเมียมได้ในพื้นที่ขุดเหมือง และยังสามารถพบกากแร่แคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร โดยอันตรายจากแคดเมียมเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเฉพาะปอด ไต และกระดูก คำแนะนำสำหรับประชาชน ในกรณีที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีกากแคดเมียม ควรงดเข้าพื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด จัดสภาพแวดล้อมในที่พักอาศัยโดยการทำความสะอาดพื้นที่ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ หรือเครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำบริเวณพื้นที่เสี่ยง หากมีการสูดดมเข้าไปให้รีบไปอยู่ในพื้นที่ โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ สังเกตอาการตัวเองหากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยแจ้งความเสี่ยงทันที
แอมโมเนียกรณีพบสารแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง สารแอมโมเนียที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด โดยแอมโมเนียมีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูง จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียนระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับประชาชน ดังนี้ 1.ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด 3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที 4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาล 5.ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ในขณะที่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ในช่วงนี้ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และพบผู้ติดเชื้อได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย จำนวน 128,156 ราย แนะนำประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง เน้นย้ำประชาชน เช่นเดียวกับโรคโควิด 19 ควรยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์
ส่วนไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 24,108 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี และพบผู้เสียชีวิต 22 ราย ขอให้ประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา) อย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพารา เซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา ทั้งนี้หากรับประทาน ยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที