กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชน ย้ำ “กุมภาพันธ์ รู้ทันโรค รู้ทันภัย ป้องกันได้” พร้อมแนะวิธีป้องกันโรคในช่วงนี้

0
94


วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2568) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าว ในหัวข้อ “กุมภาพันธ์ รู้ทันโรค รู้ทันภัย ป้องกันได้” พร้อมแนะวิธีป้องกันและดูแลตนเองให้ปลอดภัยห่างไกลโรค


โรคโควิด 19 ในปี 2568 นี้ มีผู้ป่วยสะสม 9,158 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 0 – 4 ปี รองลงมาอายุ 30 – 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้เสียชีวิต คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คือ JN.1
โรคไข้หวัดใหญ่ มีผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดยในปี 2568 นี้ มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี ซึ่งสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็น A/H1N1(2009) รองลงมาคือ B และ A/H3N2 ตามลำดับ พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่

ซึ่งส่วนใหญ่พบในโรงเรียน ปัจจุบันมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ที่ใช้รักษา และลดอาการรุนแรงของโรค แนะนำให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
โรคปอดอักเสบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ป่วยสะสม 65,777 ราย เสียชีวิต 49 ราย โดยในปี 2568 มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 0 – 4 ปี รองลงมาคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 5 – 9 ปี ตามลำดับ

ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 50 – 59 ปี และอายุ 40 – 49 ปี ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ
โรคไข้เลือดออก สถานการณ์ปี 2568 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 4.8 เท่า

โดยมีผู้ป่วย 3,550 ราย ผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มวัยเรียน และอัตราป่วยตายสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยในปี 2568 จะต่ำกว่าปี 2567 เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำความสะอาดบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบ พักผ่อนในห้องที่มีมุ้งลวด หากมีผู้ป่วยในบ้าน หรือใกล้บ้าน ให้เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นกำจัดยุงตัวเต็มวัยทั้งในและนอกบ้าน สังเกตอาการบุตรหลาน และผู้สูงอายุในบ้าน หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ทานยาพาราเซตามอล งดทานยากลุ่ม NSAIDs เช็ดตัวแต่ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีจุดผื่นแดงตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ โรคพิษสุนัขบ้า สถานการณ์ปี 2568 มีจำนวนสัตว์พบเชื้อ 34 ตัว โดยมีการพบเชื้อในสัตว์สูงสุด ที่จังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม สงขลา และอุบลราชธานี มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้านั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนแต่พบได้ทั้งปี การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยใช้หลัก 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” ย้ำประชาชน หากพบโค กระบือ ป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และห้ามชำแหละซากเพื่อบริโภค เนื่องจากการชำแหละเนื้อสัตว์โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน และการรับประทานเนื้อดิบก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทั้งนี้ หากถูกสุนัขกัด แม้พบแผลเล็กน้อยควรเข้าพบแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โดยสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ทางสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติญี่ปุ่นได้มีการรายงานว่า ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2567 ถึง 26 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 9.52 ล้านราย เฉลี่ยวันละ 66,132 ราย และในประเทศไต้หวัน ระหว่างวันที่ 19 – 25 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาสูงถึง 162,352 ราย ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2567 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยอาการหนัก 667 ราย และเสียชีวิต 132 ราย โดยผู้ป่วยอาการหนักส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีโดยสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยที่สำคัญสองชนิด คือ A(H1N1) และสายพันธุ์ A(H3N2)
โรคไข้หวัดนก สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน และสัตว์ (สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อ) ทั่วโลกยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ A(H5N1) ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ทั้งนี้จากการรายงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยสะสม 68 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยพบรายล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง เน้นย้ำประชาชนไม่สัมผัสสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยตาย
ประเด็นเพิ่มเติม
วันรณรงค์เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้ วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติการเลือกปฏิบัติสากลจึงขอเชิญชวนทุกคน ทุกภาคส่วน เป็นส่วนหนึ่งในการยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ยอมรับ เคารพ รวมทั้งปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวีโดยเร็วและต่อเนื่อง
วันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) ทุกวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี มีการกำหนดให้เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) ซึ่งในปี 2568 นี้ สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Changing systems Healthier lives” ระบบดี สุขภาพดี ซึ่งมุ่งเน้นให้รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประชาชน ร่วมกันเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดีขึ้นและให้ความสำคัญกับการดูแลโรคอ้วน

วันไตโลก (World Kidney Day)โดยวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ได้มีการกำหนดให้เป็น วันไตโลก ซึ่งในปี 2568 นี้ ได้มีการกำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Are Your Kidneys OK? Detect Early, Protect Kidney Health” หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต เพื่อมุ่งเน้นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคไตตั้งแต่ระยะแรก รวมถึงการป้องกันเพื่อสุขภาพไตที่ดี