กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย ซึ่งเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ จึงขอให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพราะกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดการพลัดตกหกล้ม เนื่องจากเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ มีปัญหาการทรงตัว เดินเซ เคลื่อนไหวลำบาก การรับรู้ที่ช้าลง การมีโรคประจำตัว เป็นต้น
วันนี้ (10 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 หรือมากกว่า 12 ล้านคน พบปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญคือการพลัดตกหกล้ม โดย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุหกล้มทุกปี หรือปีละประมาณ 4 ล้านคน ร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่หกล้มเกิดการบาดเจ็บ การบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ส่งผลกระทบต่อภาระของครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตามมา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ จึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่นับวันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น การพลัดตกหกล้มสามารถป้องกันได้ด้วย “รู้ ปรับ ขยับเพิ่ม” รู้ความเสี่ยง ปรับพฤติกรรม บ้านที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อม ขยับเพิ่มกิจกรรมทางกาย ออกแรงต้าน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน มีส่วนร่วมทางสังคม เพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย เช่น ทางเดินต่างระดับ ลื่น เป็นหลุม ขรุขระ เป็นต้น
นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ เป็นช่วงเทศกาลสำคัญและเกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัวไทย เป็นช่วงที่ประชาชนจะเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนและลูกหลาน หันกลับมาดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุทั้งร่างกายและจิตใจ แสดงความรักความกตัญญู รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงขอความร่วมมือคนในชุมชน ลูกๆ หลานๆ ร่วมกันสำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงภายในบ้านหรือชุมชน เช่น พื้นทางเดิน ถนน หรือที่สาธารณะ ร่วมกันปรับและแก้ไขจุดเสี่ยงให้มี ความปลอดภัย และสนับสนุนกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพที่ดี อยู่เป็นที่พึ่งให้แก่ลูกหลาน ได้อย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยสามารถป้องกันได้ หากผู้ดูแลเข้าใจถึง ความเสี่ยง ปฏิบัติตนตามแนวคิด “รู้ ปรับ ขยับเพิ่ม” และหากพบเห็นผู้สูงอายุหกล้ม ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บกรณีเกิดเหตุและพบอวัยวะผิดรูปหรือเจ็บขยับไม่ได้ ให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 10 เมษายน 2567