กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวสถานบริการสุขภาพไทย ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2567 ภายใต้ธีม “Take The Rights Path”

0
136

วันนี้ (13 ธันวาคม 2567) ที่ประชุมอายุรกิจโกศล กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงเอกจิตรา สุขกุล รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวสถานบริการสุขภาพไทย ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2567 ภายใต้ธีม “Take The Rights Path”

หลังจากทศวรรษของการดำเนินงานของประเทศ ด้วยความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ ภายในปี 2573 กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย (TNP+) คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติจาก RTI International, University of California San Francisco (UCSF), ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US.CDC), องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), และกองทุนโลก (GFATM), องค์การอนามัยโลก (WHO) และ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ร่วมมือกันดำเนินการ “ภารกิจร่วมเพื่อทบทวนการดำเนินงาน ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพของประเทศไทย”

โดยสังเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พูดคุยแลกเปลี่ยน และลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานขององค์กรในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ในระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม 2567 พบว่า ประเทศไทยมีหลักการดำเนินการลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติที่สำคัญ คือ หลักการ “System-Wide Approach” ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ และสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์เอดส์โลก พ.ศ. 2565-2569 ด้านการลดตีตราและเลือกปฏิบัติ
ประเทศไทยยึดหลักให้บริการเอชไอวี ที่มีคุณภาพสูงและปราศจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน และใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการยุติเอดส์ที่เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี พ.ศ. 2573 และเกิดความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้สโลแกน “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดยขยายดำเนินงานการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มุ่งเป้าลดความกลัว สร้างความเข้าใจ เรื่อง U=U (Undetectable = Untransmittable) สร้างความตระหนักและทัศนคติที่ดี และลดการตีตราภายในอย่างเป็นระบบในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ โดยมีนโยบายที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital Accreditation) การมีส่วนร่วมของชุมชน และสื่อสารต่อสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของประเทศไทย และเข้าสู่ก้าวที่ยั่งยืนเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานที่ดีของนานาชาติได้โดยยกระดับการดำเนินงานด้วยการบูรณาการการเรียนรู้การเคารพสิทธิ ความเข้าใจเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติ และความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา (pre-service training) และสถานบริการสุขภาพ (in-service training) ด้วยการเรียนแบบ participatory และ E-learning แบบผสมผสานอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่มีจุดเน้นการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและปราศจากการตีตราเป็น “ปัจจัยพื้นฐาน”

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า ประเทศไทยยึดหลักให้บริการด้านเอชไอวี ที่มีคุณภาพสูง และปราศจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2568 ที่จะมุ่งลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติในประเทศ 5 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1.ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มประชากรหลัก ในสถานพยาบาล ให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 2.ไม่มีกรณีบังคับทำหมันหรือยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับความยินยอมในสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี 3. สถานพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพที่ดำเนินการโดยชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 80 ดำเนินมาตรการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอชไอวี การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และ/หรือความเท่าเทียม ทางเพศ 4.บุคลากรด้านสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน อย่างน้อยร้อยละ 80 ได้รับการฝึกอบรมชุดมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และ 5. ดำเนินงานโครงการเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิและการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติดำเนินการ โดยองค์กรชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 60
นอกจากนี้ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน ดังนี้ 1.การใช้ intersectionality lens (อัตลักษณ์ทับซ้อน) ในการวางแผนและออกแบบบริการและโปรแกรม

ซึ่งแปลงเป็นการปฏิบัติด้วยการที่ Community-Led Health Services ต้องมีการผสาน Community-Led Human Rights and Gender Services (CL-HRGS) และทุกบริการของขุมชนต้องมีการเบิกจ่ายตรงมายังองค์กร 2.การปฏิรูปกฎหมาย และนโยบายที่ส่งผลต่อสุขภาพและเอชไอวี และขจัดการเลือกปฏิบัติ 3.การมีเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติหรือ มูฟดิ (MovED) 4.การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ระหว่างชุมชนเครือข่าย และหน่วยบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
เน้นข้อเสนอแนะสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1.การจะยุติการเลือกปฏิบัติได้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทำงาน ในทุกภาคส่วนที่ 2 ต้องเน้นให้หน่วยงานภาครัฐมาร่วมกันขจัดการเลือกปฏิบัติในนามของ G-MovED Platform และ 3.ร่วมกันผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ เป็นกฎหมายกลางของประเทศไทยเพื่อป้องกันและจัดการการตีตราเลือกปฏิบัติให้หมดไป
ซึ่งข้อเสนอแนะจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายและเกิดความยั่งยืนในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศต่อไป