กรมควบคุมโรค ร่วม…กรมการขนส่งทางบก และกปถ. รณรงค์ส่งเสริมสมรรถนะการขับขี่ปลอดภัย หวังส่งเสริมผู้ขับขี่ให้รู้ถึงภัยสุขภาพ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

0
610

นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ตัวแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังเปิดตัวกิจกรรม “รณรงค์ส่งเสริมสมรรถนะการขับขี่ปลอดภัย” ณ บริเวณชั้น 1 (ด้านทิศเหนือ) อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 ว่า จากข้อมูลทางสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 ประเทศไทย

มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุสะสมทั้งสิ้น 939,713 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 4.7 % ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บสะสม 924,799 ราย และเสียชีวิต 14,737 ราย เมื่อเทียบกับหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ประชากรมีรายได้ขั้นต่ำที่สูงกว่าประเทศไทย พบว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่หนึ่งในประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนที่มากที่สุด จำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่มากที่สุด เกิดจากรถโดยสารสาธารณะ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่ซึ่งมีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัวต่าง ๆที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่

ทั้งนี้จากข้อมูล ยังพบอีกว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบติดตามภาวะสุขภาพของผู้ขับขี่ที่เชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ ซึ่งโดยหลักต้องมีการรายงานระหว่างกัน จึงเกิดช่องว่างทำให้เมื่อผู้ขับขี่เกิดภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่และยังคงขับขี่ยานพาหนะอยู่โดยขาดการตระหนักรู้ถึงสุขภาพของตนเองจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ตระหนักรู้ถึงสุขภาพของตนเอง มีพฤติกรรมในการป้องกันโรค และ มีพฤติกรรมความปลอดภัยในการขับขี่รถได้นั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ บุคคลเหล่านั้นต้องรับรู้ถึงโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค รับรู้ความรุนแรงของการเกิดโรคจนเกิดความกลัว และรู้ว่าหากปฏิบัติตามพฤติกรรมสุขภาพให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่นั้น จะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือลดความรุนแรงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้โดยสารได้

กรมควบคุมโรค จึงได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน(กปถ.) จัดทำ “ โครงการส่งเสริมความปลอดภัย ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ภายใต้โครงการพัฒนาระบบ การตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ตระหนักรู้ถึงสุขภาพของตนเองและรับรู้ถึงโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุ
ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้และสามารถผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีโอกาสสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนสู่สังคมต่อไป

นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่าว่า กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองจัดทำ “ โครงการส่งเสริมความปลอดภัย ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะภายใต้โครงการพัฒนาระบบการตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ของผู้ขับขี่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพโดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสมรรถนะการขับขี่ปลอดภัย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชน โดยเฉพาะรถยนต์สาธารณะที่มีผู้โดยสารจำนวนมากเกิดจิตสำนึก ในการช่วยกันป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการประมาทจากการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองป้องกันการบาดเจ็บ ดำเนินการในด้านต่างๆ ได้แก่ พัฒนาระบบข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและสมรรถนะของผู้ขับขี่ ฐานข้อมูลผู้ขับขี่ เพื่อใช้เชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวังให้ผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย ด้านการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อจัดระบบบริการคลินิก Medical Fitness to Driveให้สอดคล้องเหมาะสมกับคู่มือการตรวจประเมินสมรรถนะความพร้อมในการขับขี่ รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่จัดบริการคลินิกตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive ในการดำเนินงานและเตรียมขยายผลต่อไปในพื้นที่ต่าง ๆ
“ ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive” มีบริการตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ และตรวจสมรรถนะทางร่างกาย ได้แก่ การคัดกรองสุขภาพทั่วไป การตรวจเลือด-ปัสสาวะ การตรวจการมองเห็น การตรวจการได้ยิน เอกซเรย์ปอด การตรวจสุขภาพจิต ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด กรณีพบความผิดปกติ จะมีการนัดให้มาตรวจการนอนหลับ และการตัดสินใจและสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ ต่อไป
ปัจจุบัน “ศูนย์ต้นแบบ Medical Fitness to Drive” ได้เปิดให้บริการแล้วผู้สนใจสามารถโทรสอบถามรายละเอียดในการเข้ารับบริการ ได้ที่ 02-5514349, 02-5211668 หรือติดต่อได้ที่ http://ossiudc.ddc.moph.go.th/

ด้านนางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า บขส. เป็นให้ผู้บริการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารสาธารณะระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และยังทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการจัดระเบียบการเดินรถ ของ บขส. และรถร่วมเอกชน ให้เป็นระเบียบ ทั้งนี้ในการดำเนินงาน บขส. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร จึงได้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย “บขส.ยืนหนึ่งเรื่องความปลอดภัย” อาทิ พนักงานขับรถมีการตรวจสุขภาพ และตรวจหาสารเสพติด/แอลกอฮอล์ ,จัดพนักงานขับรถ 2 คน ในเส้นทางสายยาวที่มีระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร มีการตรวจความพร้อมอุปกรณ์ของรถโดยสารก่อนออกเดินทาง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อควบคุมความเร็วบนรถโดยสาร ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ดี กิจกรรมรณรงค์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะช่วยสนับสนุนให้พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ได้รับทราบข้อมูลในการเข้าถึงกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สร้างความตระหนักในการดูลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจจะเกิดขึ้น

                                                                                                                        วันที่ 12 กันยายน 2566