วันนี้ (7 มกราคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง กรณีชาวบ้านกินหมูดิบงานบุญปีใหม่เสียชีวิต 1 ราย และป่วยอีกหลายราย เบื้องต้นจากการสอบสวนโรคในพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พบกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่รับประทานเนื้อหมูสด ก้อยหมูดิบในงาน ผู้ชำแหละเนื้อหมู และผู้ประกอบอาหารที่สัมผัสกับหมูสด เลือดหมู มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีอาการโคม่า 1 ราย ผู้มีประวัติเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หมูดิบแล้ว อาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับจนถึงขั้นหูหนวกถาวร หรือเสียชีวิตได้
โรคไข้หมูดิบเกิดจากการกินเนื้อหมู เครื่องใน เลือด และผลิตภัณฑ์จากหมูแบบดิบ หรือ สุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ และยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสกับหมูทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตาหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ท้องเสีย คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ สถานการณ์โรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 –
5 มกราคม 2568 จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 โดยกองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 956 ราย เสียชีวิต 59 ราย ผู้ป่วยมีอัตราส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิง (1 : 0.55) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ภูมิภาคที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกรายมีปัจจัยเสี่ยง คือ กินเนื้อหมู เครื่องใน เลือด และผลิตภัณฑ์จากหมูแบบดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ (ร้อยละ 56) และกลุ่มที่สัมผัสหมูโดยตรง (ร้อยละ 8)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้นนายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันโรคไข้หมูดิบ คือ 1.รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมู ที่ปรุงสุกเท่านั้น ผ่านความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที โดยต้องสุกทุกส่วน 2.อาหารปิ้งย่าง ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้คีบเนื้อหมูดิบและสุกออกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” 3.ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุก ผัก หรือผลไม้ร่วมกัน 4.เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 5.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง 6.หากมีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หมูดิบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ ทั้งนี้ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เช่น ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422