ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2564 ชี้!! อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะมากที่สุด เกิดจากรถแท็กซี่ 1,193 คัน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ขับขี่ ซึ่งมีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะอื่นๆ ที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ กรมควบคุมโรคและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ มอบให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกองป้องกันการบาดเจ็บ จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบการตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน”
เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ของผู้ขับขี่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 3 ปีย้อนหลัง พ.ศ. 2563 – 2565 (จากข้อมูล 3 ฐาน กรมควบคุมโรค) จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยปี พ.ศ. 2563, 2564 และ 2565 จำนวนผู้เสียชีวิต 17,831 ราย 16,957 ราย และ 17,379 ราย ตามลำดับ และจากข้อมูลคดีอุบัติเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ปีพ.ศ. 2564 มีจำนวนอุบัติเหตุทางถนน 79,414 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 2.09 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 ร้อยละ 12.84 ยานพาหนะที่
เกิดอุบัติเหตุ 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิคอัพ) ในขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมี 2,187 คัน โดยรถแท็กซี่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารประเภทอื่น ๆ รองลงมาเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (รถตู้) และรถโดยสารขนาดใหญ่
ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มระบบติดตามภาวะสุขภาพและสมรรถนะของผู้ขับขี่ที่เชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างสาธารณสุขและกรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเกิดช่องว่าง ทำให้เมื่อผู้ขับขี่เกิดภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคหรือมีความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่และยังคงขับขี่ยานพาหนะอยู่โดยขาดการตระหนักรู้ถึงสุขภาพของตนเองและทำใหมีความเสี่ยง อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า จากการศึกษา Medical interventions to reduce motor vehicle collisions จะพบผู้ขับขี่ที่มีอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัวต่างๆอย่างน้อย 1 โรค หรือร้อยละ 45 มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่มากกว่าบุคคลทั่วไป ได้แก่ โรคซึมเศร้า 8.75 เท่า พิษสุราเรื้อรัง 7.24 เท่า โรคลมชัก 5.92 เท่า เบาหวาน 4.49 เท่า หลอดเลือดสมอง 3.50 เท่า โรคสมองเสื่อม 2.92 เท่า
กรมควบคุมโรคและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ทั้ง 5 เสาหลักของประเทศ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์โดยชมรมแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์การจราจร ได้มีมติ
เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินความพร้อมทางการแพทย์ก่อนการขับขี่ จึงมอบให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองร่วมกับกองป้องกันการบาดเจ็บทำการศึกษา วิจัย พัฒนาต้นแบบ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทั้งประเทศ โดยการจัดทำ “ โครงการพัฒนาระบบการตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว (Medical Fitness to Drive) เพื่อลดความเสี่ยงจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” ขึ้น และจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ต้นแบบในการดำเนินงาน “คลินิก Medical Fitness to Drive”ที่มีการจัดให้บริการอย่างครบวงจร เพื่อประเมินความพร้อมในการขับขี่เป็นแห่งแรกของประเทศโดยเริ่มในกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว
เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสุขภาพและประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย (Fitness) ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเข้มข้นตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนออกใบอนุญาตขับขี่ หรือ fitness to drive ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย อันจะส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนลดลงรวมถึงทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ
นายแพทย์สุทัศน์ กล่าวและอธิบายว่าสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ
ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและสมรรถนะของผู้ขับขี่ ฐานข้อมูลผู้ขับขี่เพื่อใช้เชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวังให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัย ด้านการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อจัดระบบบริการคลินิก Medical Fitness to Drive ให้สอดคล้องเหมาะสมกับคู่มือการตรวจประเมินสมรรถนะความพร้อมในการขับขี่ รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่จัดบริการคลินิกตรวจประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตแล้วเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานคลินิก Medical Fitness to Drive
“ คลินิก Medical Fitness to Drive” มีบริการตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ และตรวจสมรรถนะทางร่างกาย ได้แก่ การคัดกรองสุขภาพทั่วไป การตรวจเลือด – ปัสสาวะ การตรวจการมองเห็น การตรวจการได้ยิน เอกซเรย์ปอด การตรวจสุขภาพจิต ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด กรณีพบความผิดปกติจะมีการนัดให้มาตรวจการนอนหลับและการตัดสินใจ และสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ต่อไป
ปัจจุบัน “คลินิก Medical Fitness to Drive” ได้เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศแล้ว โดยผู้เข้ารับบริการต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะแล้วเท่านั้น เข้ารับบริการได้ที่ ชั้น 3 อาคาร 3 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ตั้งแต่บัดนี้ (เฉพาะวันอังคาร – วันศุกร์) หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 -15.00 น. ฟรี!! ค่าบริการตรวจสุขภาพ พร้อมรับค่าตอบแทนการเสียเวลา (รับจำนวนจำกัด) โทรสอบถามและนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ ได้ที่ 02-5514349, 02-5211668 หรือจองคิวเพื่อนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ /http://ossiudc.ddc.moph.go.th/
ว่าที่ร้อยเอกสรรเพชร ตนวัฒนาไพบูลย์พนักงานขสมก. หนึ่งในผู้มารับบริการจาก “คลินิก Medical Fitness to Drive”เล่าว่าที่เข้ามาร่วมการประเมินความพร้อมทางการแพทย์ในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ผู้ที่ขับขี่รถยนต์สาธารณะทั้งรถแท็กซี่และรถโดยสารประจำทางให้เข้ามารับการทดสอบ มีหลายอย่างที่เราอาจยังไม่เคยรับการทดสอบมาก่อน เช่น การได้ยิน การตรวจสายตา ตรวจการมองเห็น ตรวจการทำงานของปอด ตรวจสุขภาพจิต นอกจากจะทำให้เราได้ทราบสมรรถนะความพร้อมของร่างกายตนเอง สามารถขับขี่ควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แล้วยังช่วยให้ผู้โดยสารเกิดความปลอดภัยด้วย
สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค