กรมควบคุมโรคแถลงข่าว “รู้ทันโรคและภัยสุขภาพในสถานการณ์น้ำท่วม”เน้นเฝ้าระวัง 2โรคหลักพร้อมแนะวิธีรับมือ

0
69


วันนี้ (11 กันยายน 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “รู้ทันโรคและภัยสุขภาพที่มักพบในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ” เน้นย้ำเฝ้าระวัง 2 โรคหลัก พร้อมแนะนำวิธีรับมือ


ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,452 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (20.5%) อาการเริ่มแรกจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง ไอเป็นเลือด และเสียชีวิต ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง คือ การเดินลุยน้ำย่ำโคลน โดยไม่สวมรองเท้าบูท หรือลงแช่แหล่งน้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อน และพบผู้เสียชีวิต 26 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไปพบแพทย์ช้า และซื้อยามารับประทานเอง


โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบเชื้อได้ในแหล่งน้ำและดินตามธรรมชาติ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ พบผู้ป่วยมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้อสามารถเข้าได้ทางผิวหนังโดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การกิน หรือดื่มน้ำไม่สะอาด และการหายใจเอาละอองฝุ่นดินเข้าไป จะมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง ฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อ และกระดูก โดยทั่วไปอาการมักปรากฏขึ้นใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หากติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตใน 1-3 วัน


วิธีป้องกันทั้งโรคไข้ฉี่หนูและโรคเมลิออยด์ สามารถป้องกันได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานหรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และเมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายทันทีด้วยน้ำและสบู่ 2.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ 3.ทำความสะอาดที่พักให้สะอาด ทิ้งเศษอาหารในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค 4.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง หรือดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง


สำหรับภัยสุขภาพจากน้ำท่วม และดินถล่ม วิธีการป้องกันการจมน้ำ ควรอพยพไปยังพื้นที่สูง ไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม ระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้รถเสียหลักล้มได้ ในขณะที่การป้องกันภัยจากดินถล่มแนะให้ 1.อพยพทันทีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยให้พ้นจากการไหลของดิน อย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร 2.หลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำเชี่ยว 3.ควรอยู่ห่างลำน้ำ ป้องกันดิน หิน ต้นไม้ ที่อาจไหลตามน้ำมา 4.เมื่อพลัดตกน้ำ ให้หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนนี้ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลา
กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี


ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 กันยายน 2567