กทปส. ผลักดันศักยภาพด้านเทคโนโลยีการแพทย์ผ่านระบบห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) รพ. สมเด็จฯ 

0
1302

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ตรวจความคืบหน้า โครงการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19 โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โดยโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 16 ล้านบาท ในการสร้างห้องความดันลบและระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine)และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในช่วงที่ผ่านมา

นายแพทย์สมยศ โล่ห์จินดาพงศ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา กล่าวว่า โครงการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อเตรียมความพร้อม รับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ซึ่งได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจาก กทปส. เพื่อเตรียมความพร้อมสถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า” สายพันธุ์ใหม่ 2019 ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ตั้งแต่ปี 2563 โครงการได้รับทุนสนับสนุนโครงการฯ จำนวน 16,556,000 บาท เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ได้ดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่

1.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า” สานพันธุ์ 2019 (COVID-19)

2.เพื่อจัดเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 นอกสถานที่

3.เพื่อให้โรงพยาบาลมีห้องแยกโรคชนิดความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

รวมไปถึงการจัดเตรียมครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันขนาดเล็ก กล้องอินฟาเรดสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องเฝ้าระวังและติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ จำนวน 4 ห้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศ

นายแพทย์สมยศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้พัฒนาระบบ IoT ในห้องความดันลบ และพัฒนาระบบ Teleconference เพื่อใช้การดูแลรักษาผู้ป่วย พัฒนา API (Application Programming Interface) สำหรับการเชื่อมต่อระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS ใหม่) และเครื่องมือวัดสัญญาณชีพผู้ป่วย รวมทั้งจัดเตรียมเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ในกระบวนการคัดกรองวินิจฉัยให้รวดเร็วเพียงพอ โดยมีเป้าหมายคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อ จำนวน 4,800 ในส่วนของการพัฒนาห้องความดันลบด้วยระบบ IoT จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆภายในห้องความดันลบ เพื่อช่วยให้ติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยได้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปภายในห้อง อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อสัญญาณชีพ เพื่อส่งข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่เคาเตอร์พยาบาล และในส่วนของการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลส่วนกลางที่จะมีระบบคัดกรองด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยวิเคราะห์สัญญาณชีพต่าง ๆ จากระบบ IoT และส่วนโครงการ API จะเป็นการพัฒนาเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลทั้งในส่วนของระเบียนเวชและผลการตรวจวิเคราะห์ต่าง ๆ จากห้องปฏิบัติการ รวมทั้งผลการวิเคราะห์ต่าง ๆที่เคยได้ทำการรักษากับคนไข้รายนั้น ๆ

ทั้งนี้ภายในห้องคนไข้ บนหัวเตียงจะมีเซ็นเซอร์ที่วัดสภาพแวดล้อมของห้อง ทั้งในส่วนของอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพอากาศภายในห้อง ทั้งระบบการหมุนเวียนของอากาศ แรงดัน และค่าก๊าซคาบอนไดออกไซต์ และอีกตัวคือการวัดสัญญาณชีพเพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้แพทย์และพยาบาลผู้ดูแลสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้ผ่านโมบายแอปพลิคเชั่น และสั่งยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

นายแพทย์สมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันระบบ IoT ของโรงพยาบาล ได้มีการพัฒนาต่อยอดหลังจากที่ได้รับเงินทุนสนับสนุน โดยได้ทำการเชื่อมต่อเข้าระบบเครื่องชั่งน้ำหนัก อุณภูมิ และส่วนสูงเข้ากับระบบสารสนเทศส่วนกลางแบบอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังได้รับอนุมัติโครงการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่น ในเรื่องของการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการรักษาแบบออนไลน์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG (Electrocardiogram) เข้ามาในระบบส่วนกลาง พร้อมทั้งการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ด้านจักษุแพทย์ และระบบทุกส่วนของคลีนิกต่อไป เพื่อช่วยให้มีข้อมูลมากเพียงพอในการวิเคราะห์ ซึ่งระบบทั้งหมดจะเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน (เครดิต : ขอบคุณ thereporter.asia)