กคช. ได้คะแนน ITA เพิ่มติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

0
1965

 

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งในปีนี้การเคหะแห่งชาติได้คะแนน 88.02 หรืออยู่ในระดับ A และนับเป็นปีที่ 3 ที่คะแนน ITA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2561 ได้คะแนน 85.53 และปี 2560 ได้คะแนน 77.92 และสำหรับปีนี้มีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประเมิน 8,299 หน่วยงาน และมีรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประเมิน จำนวน 54 หน่วยงาน

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติยึดถือและขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล จำนวน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ (Accountibity) ด้านความสำนึกในหน้าที่ด้วยขีดความสามารถและประสิทธิภาพที่พอเพียง (Responsibility) ด้านการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยสุจริตและให้เกิดความเท่าเทียม (Equitable Treatment) ด้านความโปร่งใสในการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้ (Transparency) ด้านการมีวิสัยทัศน์ (Vision) ด้านการส่งเสริมพัฒนาการกำกับดูแล มีคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในการดำเนินกิจการ (Ethics) และด้านการมีส่วนร่วม (Participation)

สำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ได้มีการพัฒนากรอบประเมินและรายละเอียดการประเมินต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการประเมิน โดยเปลี่ยนวิธีการประเมินเป็นระบบออนไลน์เป็นปีแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สามารถประเมินได้อย่างรวดเร็วและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้เกณฑ์การประเมินมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้าน เกี่ยวข้องกับคุณธรรม ความโปร่งใส และการทุจริต ทั้งที่มีลักษณะการทุจริตทางตรงและการทุจริตทางอ้อม รวมไปถึงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การใช้ทรัพย์สินของราชการ การแก้ไขปัญหาการทุจริต คุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสาร การปรับปรุงระบบการทำงาน การเปิดเผยข้อมูล และการป้องกันการทุจริต

“… การเคหะแห่งชาติจะรักษามาตรฐานการดำเนินงานต่างๆ ด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมภิบาล และจะปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน และมีความมั่นคงของการอยู่อาศัยในทุกมิติ” ดร.ธัชพล กล่าวในที่สุด