นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เยี่ยมชมการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรพิษณุโลก (ทหารอากาศ) ของ การเคหะแห่งชาติ พร้อมมอบนโยบายการดูแลชุมชนและแนวทางการบริหารพัฒนาชุมชนให้กับชาวชุมชน โดยมี ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้อยู่อาศัยในชุมชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ตั้งโครงการบ้านเอื้ออาทรพิษณุโลก (ทหารอากาศ) จังหวัดพิษณุโลก
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เผยว่า การเคหะแห่งชาติเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทยด้วยการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคา ที่สามารถรับภาระได้ ตามนโยบายของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงยังได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนในการพัฒนา โดยการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในหลายรูปแบบ ทั้งยังมีจุดเด่นและจุดแข็งของแต่ละชุมชนที่ต่างกันออกไป โดยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกที่ถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการค้าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีประชากรกว่า 880,000 คน และยังมีประชากรที่มาจากจังหวัดอื่นที่เข้ามาทำงานหรือศึกษาในจังหวัด จึงทำให้มีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูง การเคหะแห่งชาติจึงได้มีการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชากรในพื้นที่ จำนวน 12 โครงการ รวม 3,116 หน่วย ในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยมีโครงการบ้านเอื้ออาทรพิษณุโลกที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความน่าสนใจในด้านการพัฒนาชุมชนที่ได้จัดสร้างเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 24 ตารางวา จำนวน 244 หน่วย ตั้งอยู่ที่ถนนพิษณุโลก – บางกระทุ่ม ตำบลวัดพริก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 600 คน
สำหรับการจัดการและบริหารชุมชนของโครงการบ้านเอื้ออาทรพิษณุโลก (ทหารอากาศ) ได้มีการแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการรณรงค์ให้ชาวชุมชนช่วยกันรักษาความสะอาดและร่วมการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมถึงการคัดแยกขยะจนทำให้เป็นชุมชนที่ปลอดถังขยะ และยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่นในชุมชนอีกด้วย ด้านกระบวนการมีส่วนร่วม ได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน (ลิเกฮูลู) เป็นต้น และสุดท้ายในด้านเศรษฐกิจ ได้มีการร่วมกันทำน้ำพริกสำเร็จรูปที่ได้คุณภาพและมีตราสินค้าชุมชนเป็นของตนเอง รวมถึงยังผ่านการตรวจสอบจาก อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนและครัวเรือนได้เป็นอย่างดี