สลิงชอท กรุ๊ป ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ! แตก 3 ธุรกิจ รับเทรนด์ใหม่ เดินเกมขยายตลาดเชิงรุกในแนวดิ่ง ลุยเจาะลูกค้าตั้งแต่ระดับองค์กรลงลึกถึงคนทำงาน เปิดแผน 3 ปี ตั้งเป้าผลงานเติบโต 3 เท่า มีคนไทยร่วม Ecosystem Leadership 1 ล้านคน 

0
2284

สลิงชอท กรุ๊ป เติบโตแข็งแกร่ง โชว์รายได้ปี 2564 เพิ่มขึ้น 33% จากปี 2563 แม้เจอมาตรการล็อกดาวน์ มองหลังโลกเผชิญ COVID-19 เร่งให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะผู้นำและบุคลากรในองค์กรมากขึ้น ชี้ต้องปรับวิธีคิดใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ เน้นสร้างความเป็นผู้นำของระบบนิเวศ (Ecosystem Leadership) เปิดแผนงาน 3 ปี ตั้งเป้าสร้างผลงานเติบโต 3 เท่า รุกปรับโครงสร้างขยายธุรกิจเชิงรุกในแนวดิ่ง แตกไลน์ออกเป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ บริษัท จูปิเตอร์ เน้นดูแลให้บริการในภาพใหญ่ทั้งโครงสร้าง บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ดูแลการพัฒนากลุ่มผู้นำองค์กร และบริษัท วีวัน ดูแลบริการในกลุ่มคนทำงาน 

ดร. สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสลิงชอท ​เปิดเผยว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตั้งแต่ปี 2563 และ 2564 ที่ส่งผลให้มีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่สามารถจัดกิจกรรมประชุม อบรม สัมมนาแบบตัวได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับตัว รวมถึงพัฒนาธุรกิจและบริการให้สอดรับกับวิถีการทำงานแบบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโมเดลธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นผู้นำของระบบนิเวศ (Ecosystem Leadership)

“สถานการณ์ COVID-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า การพัฒนาทักษะผู้นำและบุคลากรในองค์กรนั้นยิ่งทวีความสำคัญ แต่วิธีการต้องเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากมุ่งเน้นที่การพัฒนาผู้นำและบุคลากรให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มาเป็นการช่วยให้ผู้นำองค์กรปล่อยความคิดและการกระทำแบบเก่าทิ้งไป และชวนให้พวกเขาก้าวข้ามโลกทัศน์ที่เป็นเอกเทศไปสู่พื้นที่ที่ ช่วยให้เขาเข้าใจสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นโลกของเรา ซึ่งภายใน 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้นำองค์กรกว่า 200 องค์กรที่เข้ามาอยู่ใน Ecosystem Leadership นี้ ผ่านโครงการ LeadershipACT” ดร. สุทธิโสพรรณ กล่าว

โอกาสในการสร้าง Ecosystem Leadership ให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญของ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ที่เป็น “บริษัทฝึกอบรม” มุ่งสู่กลุ่มธุรกิจที่ “สร้างคนไทยไปสู่ระดับโลก”

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และขณะนี้ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่เข้มข้นที่สุดต่อจากนี้ สลิงชอทจะต้องปรับตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้คนไทย รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ 

นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจอบรมและสัมมนาแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางความเข้าใจผู้นำและองค์กรไทยที่มีมาเกือบ 20 ปี ให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกในแนวดิ่ง ไม่เพียงเน้นที่กลุ่มผู้นำ แต่ขยายขึ้นไปสุดถึงระดับองค์กรและขยายลงมาสุดถึงระดับคนทำงาน  

ดร. สุทธิโสพรรณกล่าวต่อว่า เมื่อมองทิศทางธุรกิจในอนาคตชัดเจน คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น 3 ธุรกิจ ภายใต้บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ตามแผนงาน 3 ปี (2565-2567) ที่ตั้งเป้าผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยมีคนไทยอยู่ใน Ecosystem Leadership หนึ่งล้านคน ทั้งนี้ 3 ธุรกิจดังกล่าว ได้แก่  

  1. บริษัท จูปิเตอร์ (Jupiter) ซึ่งจะมาดูแลบริการในภาพใหญ่ทั้งโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และกระบวนการทำงานให้กับองค์กร ภายใต้การนำของ นายพฤทธ์ อึงคนึงเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จูปิเตอร์ 
  2. บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชิพ (Slingshot Leadership) ซึ่งเป็นธุรกิจในปัจจุบัน จะดูแลการพัฒนากลุ่มผู้นำองค์กร ภายใต้การนำของนางมัณฑนา รักษาชัด หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชิพ
  3. บริษัท วีวัน (V-One) ซึ่งดูแลบริการในกลุ่มคนทำงาน ภายใต้การนำของ นายสุกฤษฎิ์ ปัญจพันธ์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีวัน 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่ม ด้วยการลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ในการตั้งทีมวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างหลักสูตรและสภาพแวดล้อมที่เร็วทันต่อการตอบโจทย์ Ecosystem Leadership แบบที่ออกแบบพิเศษให้ตอบโจทย์เฉพาะสำหรับคนไทย

นางมัณฑนา รักษาชัด  หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชีพ กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายส่วนอาจมองว่าเป็นช่วงที่ต้องเก็บตัว ในทางตรงข้าม ธุรกิจด้านการพัฒนาผู้นำองค์กรกลับเติบโต ทั้งนี้เกิดจากการที่หลายองค์กรต่างตระหนักว่ากุญแจสำคัญที่จะพาธุรกิจให้รอดหรือร่วงคือผู้นำองค์กร จึงใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาทักษะผู้นำ ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงที่เราตื่นตัวกับโอไมครอน แต่เรากลับมีผู้นำองค์กรกว่า 100 คน ที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ไม่เพียงการปรับตัวในระดับองค์กร ในระดับประเทศก็คึกคักไม่แพ้กัน ในปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสพัฒนาทักษะให้ข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจกว่า 60 หน่วยงาน เพื่อเร่งการยกระดับมาตรฐานบุคลากรของประเทศไปสู่ระดับสากล นี่คือการตอบย้ำทิศทางของ สลิงชอท กรุ๊ป ในการยกระดับศักยภาพบุคลากรในองค์กรในทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคต”

นายพฤทธ์ อึงคนึงเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จูปิเตอร์ กล่าวว่า “ผลจากการสำรวจเกี่ยวกับสิ่งที่ธุรกิจจะดำเนินการในอนาคตข้างหน้าจากผู้บริหารในรายงานของต่างประเทศ สอดคล้องกับผลสำรวจผู้บริหารคนไทยหลายท่าน โดยพบว่า ผู้บริหาร 45% หวังว่าปี​ 2565 นี้ธุรกิจจะเติบโตดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว และมองว่าธุรกิจต้องมีการปรับตัว (Transformation) และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในหลายด้านมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนเป็นหลัก บริษัทเรายังมีหลักการสำคัญคือ เน้นการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในการบรรลุผลลัพธ์ร่วมกัน (Outcome Focus) และมองว่าองค์กร และอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่ว่าประเภทใดก็ตาม มีศักยภาพมากพอที่จะยกระดับไปสู่สากลได้ ดังนั้น เราจึงนำเสนอบริการให้คำปรึกษา โดยพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งเดิมที่องค์กรมีอยู่ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เหมาะสมกับองค์กรและความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า” 

ทั้งนี้ บริษัทฯได้แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อช่วยให้ลูกค้าทำการปฏิรูปได้ครบทุกมิติ ดังนี้ 1) Configure: ออกแบบและปรับโครงสร้าง ระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อให้รูปแบบองค์กรมีความเหมาะสมต่อทิศทางที่ธุรกิจจะมุ่งไปในอนาคต 2) Perform: ออกแบบและปรับปรุงกระบวนการทำงาน การจัดการองค์ความรู้ การเปลี่ยนแปลง และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) 3) Develop: พัฒนาเส้นทางอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้สืบทอดตำแหน่งเพื่อให้องค์กรเกิด Career Mobility และ Leadership Bench  นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีคู่ค้าทางธุรกิจที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเสริมการให้บริการต่าง ๆ ข้างต้น อีกทั้งยังมีการบริการในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำลังคิดค้นและพัฒนาเพื่อมอบบริการและคำแนะนำที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับลูกค้าต่อไปในอนาคต

ดร. สุทธิโสพรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราถือว่าการ Transform ในครั้งนี้ เป็นการปลดล็อกไม่เฉพาะตัวเรา แต่ช่วยลูกค้าปลดล็อกด้วย เพราะทุกจิ๊กซอว์ ไม่ว่าจะองค์กร ผู้นำ และคนทำงาน ทุกส่วนต่างเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ซึ่งเราสามารถช่วยลูกค้า คนไทย และประเทศไทยของเราให้ก้าวไปสู่การเติบโตในโลกยุคใหม่ในระดับโลกได้อย่างไร้ข้อกังขา”