วิจัยกรุงศรีเผยอุปสงค์ต่างประเทศช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่แรงกดดันด้านราคาที่เร่งขึ้นอาจกระทบการใช้จ่ายในประเทศในระยะถัดไป

0
1386

วิจัยกรุงศรีมองว่า แม้มูลค่าส่งออกเดือนมีนาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28.9 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.5% YoY แต่ไม่ค่อยกระจายตัวจึงมีแนวโน้มอาจแผ่วลงได้ในไตรมาส 2 โดยถ้าหักทองคำออกมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะเติบโต 9.5% ชะลอลงจาก 13.2% เดือนกุมภาพันธ์ โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ i) สินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ii) สินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และ iii) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ด้านตลาดส่งออกพบว่าตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และอาเซียน-5 เติบโตดี ด้านตลาดยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV เติบโตได้เพียงเล็กน้อย ส่วนด้านตลาดรัสเซียและยูเครนหดตัวลงมาก

มูลค่าส่งออกเดือนมีนาคมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปีมีมูลค่าส่งออกรวม 73.6 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.9% (หากหักทองคำ ส่งออกขยายตัว 10.1%) สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 2 วิจัยกรุงศรีประเมินอาจจะขยายตัวชะลอลง เนื่องจากมีสัญญาณการกระจายตัวน้อยลงของการส่งออกทั้งในรายตลาดและรายสินค้า โดยสินค้าที่มีการส่งออกหดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพารา และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ประกอบกับยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบจาก (i) เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวลงจากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปี 2565 เหลือ 3.6% จากเดิมคาด 4.4% (ii) มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำคัญรายใหญ่ (iii) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น และ (iv) มาตรการปิดเมืองสำคัญของจีนที่มีแนวโน้มขยายกว้างขึ้น อาจกระทบต่อความต้องการสินค้าและเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

เศรษฐกิจเดือนมีนาคมได้แรงหนุนจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเพียงเล็กน้อย (+0.5% YoY) ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน (+1.9%) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังได้แรงหนุนจากการขยายตัวของภาคส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการ

เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน และแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ยังพอมีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อ และการเติบโตของภาคส่งออกและท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ แต่คาดว่าเศรษฐกิจอาจได้รับผลเชิงบวกไม่เต็มที่ เนื่องจากปัจจัยลบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอลง และยังส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศถูกปรับขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตร และอาจมีการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึงกรอบเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้ภาครัฐจะทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพในบางกลุ่มเพิ่มเติม ล่าสุดเพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุอีกเดือนละ 100-250 บาท เป็นเวลา 6 เดือน (เมษายน-กันยายน) วงเงินรวมกว่า 8 พันล้านบาท

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com