วช. จับมือ สวทช. และ วท.กห. ส่งมอบนวัตกรรม MagikTuch ลิฟต์ไร้สัมผัส สู่วิถีชีวิตใหม่ ลดเสี่ยง-เลี่ยงเชื้อโรค แก่โรงพยาบาล 3 เหล่าทัพ

0
1089

วันที่ 28 กันยายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส แบบ 2 in 1 เพื่อลดความเสี่ยง เลี่ยงการสัมผัสเชื้อก่อโรคที่อาจสะสมอยู่บนปุ่มกดลิฟต์ที่ประชาชนมาใช้บริการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. และ พล.ท.สมเกียรติ สัมพันธ์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ร่วมกันส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว ให้กับโรงพยาบาล 3 เหล่าทัพ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ณ ห้องประชุม พล.ร.ท.สนิท โปษะกฤษณะ ชั้น 5 อาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่คนไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ โดย วช. ได้รวบรวมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คน มาทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นผลงานเชิงสุขภาพให้หลากหลาย โดยนวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส แบบ 2 in 1 ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่ วช. ให้การสนับสนุน สวทช. เพื่อขยายผลสู่การใช้งานจริงเพื่อบรรเทาวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศ ด้วยการแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นลิฟต์แบบไร้สัมผัส เนื่องจากลิฟต์ในที่สาธารณะมีประชาชนใช้งานจำนวนมาก ดังนั้นการมีนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรคระบาดเกิดขึ้นจำนวนมาก และหลายโรคสามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีสารคัดหลั่งหรือเชื้อโรคจากผู้ป่วยติดค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของต่างๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกัน เช่น ที่จับประตู ราวบันไดเลื่อน ก๊อกน้ำ รวมถึงปุ่มกดลิฟต์โดยสารซึ่งเป็นระบบขนส่งที่มีผู้คนใช้ร่วมกันจำนวนมาก ทีมวิจัยจึงพัฒนานวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคความเสี่ยงจากการสัมผัสกับปุ่มกดลิฟต์ที่อาจมีสารคัดหลั่งหรือเชื้อโรคต่างๆ ของผู้ป่วยติดค้างอยู่ สามารถช่วยลดการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ได้

พล.ท.สมเกียรติ สัมพันธ์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวว่า วท.กห. ได้อำนวยความสะดวกสถานที่ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อนำนวัตกรรมลิฟต์ไร้สัมผัสเข้ามาติดตั้ง ณ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งรู้สึกดีใจและยินดีอย่างยิ่งที่ วท.กห. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำนวัตกรรมที่นักวิจัยไทยเป็นผู้ค้นคิดและผลิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. และ สวทช. มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังมีคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ ลดการนำเข้าและไม่ต้องซื้อลิฟต์ตัวใหม่ นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลจะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับระบบลิฟต์ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ผ่านมาตรฐานทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถติดตั้งเข้าไปบนลิฟต์ตัวเดิมโดยไม่ต้องเจาะตัวลิฟต์ ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของระบบประกันจากบริษัทผู้ติดตั้งและผู้ดูแลลิฟต์ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงปุ่มกดลิฟต์ให้เป็นระบบไร้สัมผัส ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทยห่างไกลโรคต่างๆ ได้

สำหรับนวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส มีจุดเด่น 3 ประการ คือ 1. Touchless เป็นระบบการทำงานแบบไร้สัมผัส สั่งการด้วยเซนเซอร์ โดยใช้นิ้วมือวางเหนือปุ่มลิฟต์ของชั้นที่ต้องการระยะห่าง 1-3 เซนติเมตร เซนเซอร์จะตรวจจับข้อมูลชั้นที่ต้องการเลือกและสั่งการลิฟต์โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งมีระบบการตรวจจับเพื่อป้องกันการสั่งการพร้อมกันหลายปุ่ม ขณะเดียวกันหากระบบเกิดการขัดข้อง หรือผู้ใช้งานไม่สะดวกใช้งานแบบไร้สัมผัส สามารถใช้วิธีกดปุ่มลิฟต์แบบเดิม เนื่องจากระบบออกแบบให้ทำงานได้ 2 แบบ คือ แบบไร้สัมผัสและการกดปุ่ม 2. Safe from Infection ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรค เพราะเมื่อไม่มีการสัมผัสจะลดการแพร่กระจายเชื้อโรคในลิฟต์ และ 3. Easy Installation คือ ติดตั้งได้ง่ายและมีความยืดหยุ่น โดยชุดอุปกรณ์ MagikTuch สามารถติดตั้งเข้าไปบนลิฟต์ตัวเดิม โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือเชื่อมต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของตัวลิฟต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการรับประกันระบบของบริษัทผู้ติดตั้งและผู้ดูแลลิฟต์ อีกทั้งยังออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับจำนวนชั้นได้ตามที่ต้องการสำหรับลิฟต์โดยสารหลากหลายยี่ห้อ อีกทั้งมีระบบป้องกันทางไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและผ่านการทดสอบมาตรฐานด้าน EMC/EMI อีกด้วย

การส่งมอบนวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส ครั้งนี้ วช. และ สวทช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ทีมวิจัยได้ดำเนินการติดตั้ง ณ อาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค ตั้งแต่ชั้น B ถึง ชั้น 6 จำนวน 2 ชุด พร้อมติดตั้งแผงด้านในที่ลิฟต์จำนวน 2 ตัว และแผงด้านนอกลิฟต์จำนวน 5 แผง 2. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ได้ดำเนินการติดตั้ง ณ อาคารคุ้มเกศ ตั้งแต่ชั้น B ถึง ชั้น 5 จำนวน 2 ชุด พร้อมติดตั้งแผงด้านในที่ลิฟต์จำนวน 2 ตัว และแผงด้านนอกลิฟต์จำนวน 6 แผง และ 3. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ดำเนินการติดตั้ง ณ อาคารมหาวชิราลงกรณ์ ตั้งแต่ชั้น 1 ถึง ชั้น 7 จำนวน 1 ชุด พร้อมติดตั้งแผงด้านในที่ลิฟต์จำนวน 1 ตัว และแผงด้านนอกลิฟต์จำนวน 4 แผง รวมทั้ง 3 โรงพยาบาล ติดตั้งลิฟต์ไร้สัมผัสจำนวนทั้งสิ้น 5 ชุด 20 แผงสั่งการลิฟต์ไร้สัมผัส ซึ่งทีมวิจัยได้ดำเนินการเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ประโยชน์

ที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุน สวทช. ดำเนินการติดตั้งใช้งานนวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วมากกว่า 10 แห่ง เช่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ เป็นต้น

ทำให้เกิดการขยายผลและอยู่ระหว่างการติดตั้ง MagikTuch ให้มีการนำไปใช้งานเพิ่มเติมในสถานที่ที่มีคนไปใช้งานกว่า 12 จุดติดตั้ง อาทิ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งโรงพยาบาลทั้ง 3 เหล่าทัพในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศได้โดยเฉพาะในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ที่ต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลกันมากขึ้น