ปลัด อว.ปาฐกถาพิเศษ ฉายชัด อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 ชู BCG คือ เครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

0
1188

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทัพเสนอแนะแนวทางการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมใหม่ เพื่อวางรากฐานสำคัญของก้าวต่อไปโดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังวิกฤตโควิด-19 คือ การวิจัยและนวัตกรรม ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง นั่นคือ BCG

ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 สรุปว่า เราอยู่กับโควิดมา 3 ปี ปีที่แล้วเรายังไม่แน่ใจว่าเราอยู่ตอนไหนของโควิด แต่ปีนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าเราค่อนข้างผ่านโควิดไปแล้ว สำหรับตนไม่ได้ไปต่างประเทศมา 2 ปี เพิ่งไปต่างประเทศอีกครั้งเมื่อไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา ไปที่ยุโรปดูเหมือนไม่เคยมีโควิดมาก่อนเลย เหมือนเพียงเราหายไป 2 ปีแล้วกลับมา ณ เวลานี้ โดยส่วนตัวจึงไม่คิดว่า โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่คิดว่าโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ที่ผ่านมาทุกประเทศเห็นตรงกันว่า ไทยรับมือกับโควิดได้ดีมากซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ถ้ามองย้อนไปเรื่องที่เราทำได้ไม่ดีคือ เราต้องหยุดเดินทางระหว่างประเทศ เราได้รับผลกระทบอย่างมากจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของไทย การท่องเที่ยวเป็นรายได้ 1 ใน 5 ของจีดีพี และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยยังขึ้นอยู่กับประเทศเดียวหรืออย่างมาก 3 ประเทศ ทำให้เราได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างมากและฟื้นตัวได้ช้า

ปลัด อว. กล่าวว่า แนวโน้มของโลกที่โควิด-19 มา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมาก แต่ที่เราเจอจะมากกว่าพื้นฐานทั่วไปของโลก ได้แก่ สถานการณ์ Demographic change (การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์) คือคนอายุยืนอย่างชัดเจน ในทุก ๆ 10 ปี จะอายุยืนขึ้น 2 ปี คนตายช้าลง คุณภาพชีวิตทั่วไปดีขึ้น คนเกิดน้อยลง ในไทยสังคมสูงวัยจะมาแรงมากซึ่งจะมีผลกระทบต่าง ๆ ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างจะสูงขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เกิดการเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกจากสังคมตะวันตกมาสู่สังคมตะวันออก ส่วนประเทศไทยมีเรื่องท้าทายอยู่ 6 เรื่อง คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางจะยากขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกลุ่มเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องวางรากฐานเศรษฐกิจในยุคต่อไปของประเทศต้องเปลี่ยนการพึ่งพาท่องเที่ยวที่พึ่งพาประเทศเดียวเป็นหลัก มาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีความยั่งยืนและมูลค่าสูง หนึ่งในนั้นคือ BCG เชื่อว่าเป็นเครื่องจักรที่ทำให้ไทยโตได้ไวและมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ปลัด อว. กล่าวว่า key word ของเราที่จะต้องปรับตัวคือ การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน คนมีความสุข และสังคมดี ยืดหยุ่น สิ่งแวดล้อมดีการสร้างสมดุลต้องทำทุกมิติโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งอาหาร อาชีพ สุขภาพ พลังงาน และการศึกษา เป็นทิศทางที่ประเทศไทยน่าจะต้องเดินไปเพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มมองเห็นความชัดเจนว่าจะต้องดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่มาจากภายใน จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง เราจะต้องมองไปข้างหน้าใน 20 ปี จะเป็นอย่างไร ต้องฉายภาพให้ชัดเจนและมีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งโครงสร้างประชากร อาชีพ คนจะอยู่แบบไหน โครงสร้างของเมืองและชนบทจะเป็นอย่างไร อาหารการกิน ถ้ามีภาพเหล่านี้จะทำให้เรามีความชัดเจนมากขึ้น

จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ ทิศทางวิจัยและนวัตกรรม กุญแจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังโควิด-19” โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรม สาธารณสุข และ คุณวิโรจน์ นรารักษ์ โดยมี ศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล นายกสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ดำเนินรายการ

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วช.ได้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โดยระหว่างปี 2563-2565 วช.ได้สนับสนุนงบวิจัยทางด้านโควิด-19 ราว 700 ล้านบาทจาก 210 โครงการ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ได้เป็นอย่างดี และได้รับการยอมรับในระดับนโยบาย


งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดถึง 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ