บีโอไอ ประกาศจัดงาน เทกก้า งานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย

0
294

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยและสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง เพื่อประกาศจุดยืนสำคัญต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น “ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก” ประกาศจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า (Thailand Electronics Circuit Asia – THECA) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยรวบรวมนวัตกรรม เทคโนโลยี และผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ อาคาร EH101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาประเทศไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนานกว่า 40 ปี และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB และ PCBA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 5.0 และระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะประกาศศักยภาพของประเทศไทย และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตและก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของโลกได้”

นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือเติบโตเกือบ 6 เท่าตัว เนื่องจากจะมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 โครงการ การจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า ครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมในระดับสากล นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดีต่อไป ขณะเดียวกัน เคซีอี ได้เตรียมนำสุดยอดนวัตกรรมใหม่ในหลายด้านอันเกี่ยวเนื่องกับระบบยานยนต์ ระบบเครือข่าย รวมถึงเทคโนโลยีของแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงมาจัดแสดงภายในงานอย่างครอบคลุมและครบวงจรที่สุดอีกด้วย

ด้าน นายเสวก ประกิจฤทธานนท์ อุปนายกและเลขานุการสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย และประธาน บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด กล่าวถึงนวัตกรรมที่โดดเด่นภายใต้การดำเนินงานของบริษัท คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์ในแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และกระบวนการชุบเคลือบผิว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นรากฐานของการพัฒนาในขั้นต่อไปของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยหัวใจสำคัญของ ออโรเม็กซ์ คือ การวิจัย พัฒนาและผลิตโดยคนไทย ล่าสุดได้พัฒนาระบบการผลิตระดับนาโน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต AI Server ระบบยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กอีกหลายชนิด ทำให้ต้นทุนนั้นลดลง แต่มีความเสถียรและประสิทธิภาพดีขึ้น

ขณะเดียวกัน นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมสำคัญในระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย ปัจจุบัน กำลังขับเคลื่อนไปสู่ E-Factory อย่างเต็มตัว การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรระบบอัตโนมัติจะมีมากขึ้น การใช้แรงงานคนจำนวนมากจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บีโอไอ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์และบีซีจี ทำให้การลงทุนในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรืออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ดังนั้น การใช้ E-Factory จึงเป็นทางออกในกระบวนการผลิต ด้วยการเพิ่มนวัตกรรมหรืออุปกรณ์อัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเครือข่าย ซอฟท์แวร์อัจฉริยะ และอื่นๆ โดย มิตซูบิชิ ได้ให้บริการในระบบโรงงานอัตโนมัติควบคู่ไปกับการอบรมพัฒนาบุคลากร เพื่อให้สามารถควบคุมและใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสมแก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พร้อมจะเดินหน้าสู่ E-Factory ในอนาคต

นายแจ๊คกี้ ชาง ประธาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล คือ 1) การออกแบบสินค้าและบริการให้รองรับกับความต้องการของตลาด 2) การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3) การอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยปัจจุบัน เดลต้า ประเทศไทย เป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคและศูนย์กลางการผลิตของเดลต้าทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดีย มีผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้าสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ ยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ ตัวแปลงไฟฟ้าและอื่นๆ สำหรับธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและน่าจับตามอง ได้แก่ เครื่องชาร์จ EV ระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูล และการจัดการพลังงานอัจฉริยะในภูมิภาค การเข้าร่วมงานเทกก้าครั้งนี้ จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับเดลต้าและสร้างรากฐานสำคัญด้านการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ประเทศไทย

ภายในงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า ยังมีงานประชุมวิชาการและปฏิบัติการระดับนานาชาติหลากหลายหัวข้อ จัดโดยสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวความคิด ผลงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด

ล่าสุด มีบริษัทและสมาคมอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ยืนยันเข้าร่วมจัดงานแล้ว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ สำหรับการจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกเข้าร่วมแสดงงานสูงถึง 250 ราย และผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 4,000 ราย ตลอดระยะเวลาการจัดงาน


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ www.facebook.com/thailandelectronicscircuitasia หรือ line official @THECA

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจองพื้นที่จัดแสดง ติดต่อได้ที่ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย โทร. 089-987-9701 หรือ 097-045-0544 อีเมล์ phutana@thpca.org หรือ kanlaya@thpca.org