ธอส. คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award : TQA ประจำปี 2562 สะท้อนความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก

0
1566

สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นองค์กรคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุด ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรว่ามีความทัดเทียมมาตรฐานโลก โดย ธอส. ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก และเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัล TQA และไม่มีหน่วยงานใดในประเทศได้รับรางวัลนี้มานานถึง 10 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นองค์กรคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุด ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรว่า มีความทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก โดย ธอส. ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก และยังเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัล TQA รวมทั้งยังไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทยได้รับรางวัล TQA มาเป็นเวลานานถึง 10 ปี ซึ่ง ธอส. ได้เริ่มนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็น มาประยุกต์ใช้ในองค์กรตั้งแต่ปี 2559 ควบคู่ไปกับระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA) และสมัครเข้ารับการตรวจประเมินตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเมื่อปี 2561เป็นปีแรก และได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class : TQC ประจำปี 2561 ได้ทันที และจากนั้นได้นำรายงานผลการตรวจประเมินในปี 2561 ซึ่งระบุจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุง มาใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้น จนนำมาสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ประจำปี 2562 ซึ่งถือเป็นรางวัลที่การันตีว่าการดำเนินงานทุกด้านของธนาคารมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ หลังจากตลอด 66 ปี ที่ผ่านมา ธอส. มุ่งมั่นในการทำให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจของธนาคารมาแล้วกว่า 3.7 ล้านครอบครัว และยังคงมีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทุกด้าน ซึ่ง ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 215,301 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,209,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.37% จากสิ้นปี 2561 คิดเป็น 30% ของส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงิน และมีกำไรสุทธิจำนวน 13,352 ล้านบาท

สิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรมีผลลัพธ์ในการดำเนินงานเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทุกตัวชี้วัดเกิดจากการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้ในกระบวนการทำงานครอบคลุมทั้ง 6 หมวดที่สำคัญในการจัดการและการดำเนินการขององค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยความเชื่อที่ว่า “ผลลัพธ์ที่ดี มาจากกระบวนงานที่ดี”(Good results come from Good processes) ทั้งในด้านการนำองค์กรของผู้นำระดับสูง การวางแผนกลยุทธ์ การดูแลกลุ่มลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวิเคราะห์ติดตามประเมินผลและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้ทันต่อสถานการณ์ การจัดการความรู้ขององค์กร หรือ Knowledge Management รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งทุกหมวดได้ทำงานแบบบบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกันทุกระดับภายในองค์กร ตั้งแต่กลุ่มงาน สายงาน ฝ่าย/สำนัก/ภาค และสาขาหรือ ส่วนงานในสำนักงานใหญ่ ที่นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานประจำวันภายใต้บริบทของตัวเอง

“ผลลัพธ์สำคัญที่ตามมาจากการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้คือจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระเวลาการให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 40 ปี การ Over Night Approve หรืออนุมัติสินเชื่อภายใน 1 วันหลังยื่นกู้ การนำระบบปฏิบัติงานหลักที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของธนาคารอย่าง GHB System ขึ้นใช้งานทดแทนระบบเดิมได้ตามกำหนด โดยให้บริการลูกค้าทั่วประเทศได้อย่างไร้ร้อยต่อ ซึ่งระบบดังกล่าวยังทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาบริการใหม่ ๆ ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น รวมถึง Mobile Application : GHB ALL ซึ่งมีบริการในสิ่งที่ลูกค้าของ ธอส. ต้องการ อาทิ ตรวจสอบสถานะสินเชื่อ ชำระหนี้เงินกู้ โอนเงิน แจ้งเตือนชำระหนี้ และค้นหาทรัพย์ NPA เป็นต้นรวมถึงการนำ Digital Dashboard มาปรับใช้ในการกำกับและติดตามทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับการอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าตั้งแต่วันยื่นกู้ไปจนถึงทำนิติกรรมอีกด้วย”นายฉัตรชัยกล่าว

ขณะเดียวกันธนาคารยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข พร้อมรับรู้หน้าที่ว่าคือการทำให้คนไทยมีบ้าน โดยใช้กลยุทธ์ 5 R คือ Recruit(การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ), Retrain (การพัฒนาทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง), Reallocate (การจัดสรรบุคลากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง), Restructure (การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว) และ Re-Attitude (ปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อให้ตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล) พร้อมไปกับยกระดับการส่งเสริมพฤติกรรมของบุคลากรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการเพิ่มเติมค่านิยมองค์กรจาก GIVE เป็น GIVE+4 ประกอบด้วย Good Governance หรือการทำงานอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล, Innovative Thought มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่, Value Teamwork การทำงานเป็นทีม, Excellence Service การให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด, (En)Courage to Change กล้าเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง, Achievement Oriented มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จให้ได้ตามเป้าหมาย, Professional มีความเป็นมืออาชีพ รู้จริงหรือเชี่ยวชาญในงาน ให้คำแนะนำแก่คนอื่นได้ และ Speed ทำงานให้เสร็จตามแผนหรือเร็วกว่าแผน

สำหรับในปี 2563 บุคลากรทั้งกว่า 5,000 ชีวิตของ ธอส. ต้องมีความเข้าใจบริบทของธนาคาร นั่นคือ พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมขององค์กรเป็นอย่างดี นำไปสู่การการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้าน Balance sheet ความมั่นคงทางการเงิน การมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและการสร้างความผูกพัน เพื่อให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อการเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืนและการปลูกฝังจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยยุทธศาสตร์ “Be Simple, Make it Simple” โดยการช่วยให้คนไทยมีบ้านด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ง่าย ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และสามารถผ่อนชำระได้ตลอดจนถึง ไถ่ถอนจำนอง และยังนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และคงความเป็นเลิศในระบบการบริหารจัดการองค์กร มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้านตามวิสัยทัศน์ของธนาคาร และพร้อมที่จะ เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชมเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำแนวทางการดำเนินงานของ ธอส. ไปปรับใช้ เพื่อร่วมส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้ต่อไป