นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังรายงานสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ Fed Beige Book ได้ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตในอีก 6-12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มแย่ลง ตามการปรับตัวลดลงด้านอุปสงค์หรือความต้องการใช้จ่าย ท่ามกลางราคาอาหารและค่าเช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวมากขึ้น หากเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อตามความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 3.27% หนุนหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างรีบาวด์ขึ้น นำโดย Amazon +2.7%, Alphabet +2.5% ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่มการแพทย์และกลุ่มสาธารณูปโภค ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.83%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุด อย่างยอดการค้าที่แย่กว่าคาด และปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ได้เพิ่มความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนัก และส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายหุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ อาทิ กลุ่มเหมืองแร่ (Glencore -3.8%) และกลุ่มพลังงาน (Equinor -5.7%) ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลวิกฤตพลังงานที่อาจยิ่งกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป กลับมาปรับตัวลดลง -0.57%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงกลับสู่ระดับ 109.7 จุด ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 1,727 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นระดับที่ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% สู่ระดับ 0.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใหม่ของ ECB ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากเผชิญกับวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ชี้ว่า ตลาดมองเฟดมีโอกาส 76% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะสั้นนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะมาในช่วงที่ใกล้กับการแถลงของประธานเฟด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดได้รับรู้แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทำให้เหลือเพียงปัจจัยแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดได้ โดยหาก ECB ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด และแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้
ในกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เราประเมินว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่โซนแนวรับที่ผู้นำเข้าอาจรอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์อยู่นั้น จะอยู่ในช่วง 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.70 บาท/ดอลลาร์