ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์​  “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์

0
1166

ตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย หลังจากที่ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากฝั่งยุโรป อย่าง ดัชนี PMI ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้น ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงหนักกว่า -10% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นนักลงทุนก็พากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.11% นำโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ อย่าง กลุ่มพลังงาน BP -7.0%, Total Energies -6.4% และกลุ่มการเงิน Santander -3.2%, HSBC -3.0%

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงไปกว่า -2.0% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้น จนปิดตลาดที่ +0.16% หนุนโดยแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet (Google) +4.2%, Amazon +3.6% ซึ่งแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Innovation (ARK Innovation ETF +9.1%) นั้นมาจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับ 2.82% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ISM Services PMI (รายงานวันนี้), ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงาน (รายงานวันศุกร์นี้) และรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (วันพฤหัสฯ) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทรงตัวหรือปรับตัวลดลงได้ หากตลาดเชื่อว่า เฟดจะไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและเริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด (Terminal Rate) กลับกัน หากตลาดมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาได้ แต่การปรับตัวขึ้นก็อาจถูกชะลอด้วยแรงซื้อพันธบัตรเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 106.5 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่ารุนแรงของ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด สะท้อนภาพการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การแข็งค่าหนักของเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นอุปสรรคที่กดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงก็ตาม โดยล่าสุด ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2021 ทั้งนี้ โซน 1,740-1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับที่สำคัญ ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเข้ามาซื้อทองคำได้ แต่ผลข้างเคียงของโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ แย่กว่าคาด สามารถส่งผลต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดมองว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงสะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมิถุนายนที่จะลดลงสู่ระดับ 54 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง John Williams รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (รับรู้รายงานในช่วงเช้าตรู่วันพฤหัสฯ) ซึ่งเฟดได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อประเมิน ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด โดยเฉพาะมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ นั้นหลักๆ แล้วมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงการอ่อนค่าลงหนักของสกุลเงินฝั่งยุโรป จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย ทำให้เรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลภาพเศรษฐกิจถดถอยอยู่ เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสได้แรงหนุนต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ยังมีอยู่ หากทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยก็เริ่มเจอการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจยิ่งกดดันค่าเงินบาท ผ่านแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงเทขายหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและธีมการเปิดเมือง (Reopening Theme)

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้ อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์ไว้พอสมควรแล้ว ทำให้ภาพ Panic Buy เงินดอลลาร์จากผู้นำเข้าอาจไม่ได้เกิดขึ้น และมองว่าผู้นำเข้าอาจรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทกลับมาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.05 บาท/ดอลลาร์
________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย