ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์​ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์

0
1176

ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แรงซื้อหุ้นเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวลงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ Tesla +9.4%, Alphabet (Google) +4.1%, Apple +3.3% ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.51% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นราว +2.45% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามการรีบาวด์ของราคาน้ำมันและการปรับมุมมองการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานที่ดีขึ้นของนักวิเคราะห์ อาทิ Exxon Mobil +6.2%, Chevron +4.2% ก็ได้ช่วยหนุนการรีบาวด์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +0.35% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ASML +2.7%, Adyen +2.2%, Dior +2.1%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.28% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดในวันนี้ เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ทั้งนี้ เราคงมุมมองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเริ่มทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และหากมีมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกรณีเลวร้ายสุด บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวลดลงได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าแตะระดับ 136.5 เยนต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กับเฟด ส่วนแรงกดดันเงินดอลลาร์นั้นมาจากภาพตลาดที่เริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจยังคงมีทิศทางผันผวนและแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสก่อนในวันนี้ ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะยังทรงตัวใกล้ระดับเดิม แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำอาจปรับตัวเป็นขาขึ้นได้ยาก และมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะมีความมั่นใจในแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก่อน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก โดยในฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด นั้น ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Powell’s Testimony) โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด รวมถึงความจำเป็นหรือโอกาสที่เฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่ ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด

ส่วนในฝั่งไทย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมอาจขาดดุลราว -1.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้าโตกว่า +18%y/y ในขณะที่ยอดการส่งออกอาจโตเพียง +8%y/y

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่า ตามภาพตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่โดยรวมเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงระหว่างวันไปทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.40 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้งได้ โดยแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้น ยังคงมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นและบอนด์ไทยรวมกันกว่า -7.1 พันล้านบาท ซึ่งเราประเมินว่า ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะมีส่วนทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อได้ในช่วงนี้

นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังความผันผวนจากเงินดอลลาร์ในช่วงระหว่างตลาดรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ซึ่งหากประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หรือ แสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง อนึ่ง เราประเมินว่า การทยอยปรับลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด (Net Long USD positions) แม้ว่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในช่วงที่ผ่านมา อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปได้มาก และเริ่มมีการทยอยขายทำกำไร ทำให้เรามองว่า เงินดอลลาร์จะเริ่มกลับตัวเป็นขาลงได้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หรือ จุด Peak Hawkishness ของเฟดได้มาถึงแล้ว ซึ่งเราคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคม

อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.45 บาท/ดอลลาร์
___________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย