ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

0
214

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.74-36.85 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.60% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง ในปีนี้) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่นที่ล่าสุดทะลุโซน 157.50 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นสวนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ของหุ้น Nvidia +0.8% (แม้ว่าบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor/AI จะปรับตัวลงพอสมควรก็ตาม เช่น AMD -3.8%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.74%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -1.08% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ LVMH -2.8%, SAP -0.8% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้งในปีนี้ ยังคงหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้ระดับ 4.62% อย่างไรก็ดี เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ ทว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากระดับบอนด์ยีลด์ที่สูงกว่า 4.50% จะทำให้การถือครองบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มี Risk/Reward ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หากสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 4.70%-4.75% โดยโซนดังกล่าวก็อาจเป็นจุดทยอยเข้าซื้อที่น่าสนใจได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุไปได้ (อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่อง (และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์) นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การถือครองเงินดอลลาร์มีความน่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ (คาดการณ์ครั้งที่สอง) ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เมื่อเทียบกับคาดการณ์ครั้งแรก โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี PCE ที่จะช่วยสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้มีกำลังมากขึ้น หลังในวันก่อนหน้าเงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถกลับไปทดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (ซึ่งเป็นกรอบค่าเงินบาทที่เราได้ประเมินไว้ ณ ต้นสัปดาห์) โดยเรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ ทั้งความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้ราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงปรับฐานราคา (Correction) ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงปรับฐานและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะยิ่งกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดที่กลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จะมีการปรับสัดส่วนหุ้นไทยในดัชนี MSCI (คาดว่า อาจมีแรงขายหุ้นไทยที่ถูกปรับสัดส่วนและถูกปรับออกจากดัชนี ราว 1 หมื่นล้านบาท)

ทั้งนี้ เงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพราะหากออกมาแย่กว่าคาด ก็สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลงได้ราว -0.14% แต่ในทางกลับกัน หากออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่สดใสและแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว +0.20%

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์