ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น​ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 12 พฤษภาคม)

0
1433

สัปดาห์ที่ผ่านมา ความผันผวนรุนแรงยังคงอยู่กับตลาดการเงิน จากความกังวลเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรุนแรงกว่าคาดและความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด นอกจากนี้ รายงานข้อมูล GDP ของไทยในไตรมาสแรกก็อาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เช่นกัน

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะจับตาสัญญาณการบริโภคและการใช้จ่ายของคนอเมริกันผ่านรายงานข้อมูลยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ซึ่งตลาดคาดว่ายอดค้าปลีกอาจขยายตัวเพียง +0.5% จากเดือนก่อนหน้าชะลอลงจากที่โตได้กว่า 0.7% ในเดือนมีนาคม จากผลกระทบของราคาสินค้าโดยรวมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคของผู้คนได้เปลี่ยนจากสินค้าสู่การบริการมากขึ้น ก็อาจกดดันยอดค้าปลีกได้เช่นกัน นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell ว่าจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมีมากน้อยขนาดไหน รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ในรอบนี้

ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะมุมมองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทิศทางเงินเฟ้อ และแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB จากประธาน ECB Christine Lagarde หลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าที่เคยมองไว้ จากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน หากยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งต้องติดตามบทสรุปของมาตรการคว่ำบาตรของทาง EU ต่อรัสเซียในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดโอมิครอนในไตรมาสแรกของปีนี้ จะกดดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น หดตัว -1.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown มีแนวโน้มที่จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทว่ายังคงต้องติดตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ และผลกระทบจากปัญหา Supply Chain Disruption ที่อาจกดดันภาคการค้าของญี่ปุ่นได้ อนึ่ง แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทยอยฟื้นตัว แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนเมษายนอาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลของการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและผลของการปรับลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงไม่ได้มาจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นเป็นหลัก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ส่วนในฝั่งฟิลิปปินส์ ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% หลังเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและเงินเฟ้อล่าสุดได้ปรับตัวขึ้นทะลุกรอบของ BSP (2%-4%) และเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับสูงได้นาน อนึ่ง แม้ว่าหลายธนาคารกลางในฝั่งเอเชียอาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย PBOC อาจปรับลด อัตราดอกเบี้ย MLF ประเภท 1 ปีลงในระยะสั้นนี้ ซึ่งแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ PBOC อาจทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า PBOC จะประกาศ LPR (หลังรวบรวมจากบรรดาธนาคารพาณิชย์) ที่ลดลงสู่ระดับ 3.60% สำหรับ LPR 1 ปี และลดลงสู่ระดับ 4.55% สำหรับ LPR 5 ปี

ฝั่งไทย – ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูล GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว +1.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี หากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นออกมาดีกว่าคาดไว้มาก อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ บอนด์ยีลด์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ขณะเดียวกันเงินบาทก็อาจชะลอการอ่อนค่าลงและกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนและอาจอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี หาก GDP ของไทยในไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากมุมมองของผู้เล่นที่คาดว่า ธปท. อาจเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายนได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนอยู่จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งตลาดอาจรอลุ้นถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดว่าส่วนใหญ่จะออกมาในทิศทางใด โดยหากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ตลาดก็สามารถทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้บ้าง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.40-34.90 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์
_____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย