ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์

0
506

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ จากรายงานข่าวที่ทางธนาคาร First Citizens ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการของธนาคาร SVB ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวสูงขึ้น (BofA +5.0%, JPM +2.9%) ในขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง (Alphabet -2.8%, Microsoft -1.5%) โดยอาจมองได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.52% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.16% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -0.47%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.05% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BNP +2.6%, Santander +2.2%) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ (ซึ่งล่าสุดมีข่าวธนาคาร First Citizens ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคาร SVB) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Healthcare โดยราคาหุ้น Novartis +7.7% จากรายงานข่าวว่ายารักษามะเร็งเต้านมของบริษัทให้ผลการรักษาที่ดีได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.7 จุด หลังผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี ควรระวังว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลง (ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องดีกว่าคาด) หรือตลาดกังวลปัญหาระบบธนาคารฝั่งยุโรปมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ สู่ระดับ 1,977 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงนี้ โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกุมภาพันธ์ จะยังคงหดตัว -7%y/y สอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +2%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเกือบ -2 พันล้านดอลลาร์ได้

ส่วนในฝั่งยุโรป อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่มาก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะผู้ว่า BOE และ ประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั้งสอง ว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้หรือไม่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษและยุโรปอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าเป้าหมายไปมาก แต่เศรษฐกิจก็เผชิญความท้าทายมากขึ้น จากปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารที่เกิดขึ้น

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ซึ่งตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคม อาจย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด จากระดับ 102.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารที่เกิดขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของราคาทองคำมากกว่าเงินดอลลาร์ (เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้น หรือ เงินบาทอ่อนค่าลง ในเวลาที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง) ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงของเงินบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาด หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนแต่อย่างใด

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (แถวระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีโอกาสได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าได้จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ (ซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นมากกว่า 5 พันล้านบาท ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยซื้อบอนด์ระยะสั้นในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น)

อย่างไรก็ดี ในระหว่างวัน ควรระวังเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลาร์ และเสี่ยงที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว หากรายงานข้อมูลยอดการส่งออก (Exports) และดุลการค้า (Trade Balance) ออกมาแย่กว่าคาด หรือ ดุลการค้าขาดดุลสูงกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็มีโอกาสผันผวนไปตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า เงินยูโร และเงินปอนด์อังกฤษอาจย่อตัว อ่อนค่าลงได้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง หรือแสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารยุโรปที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ปรับตัวสูงขึ้นและออกมาดีกว่าคาด ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดยรวมยังคงสดใส อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเกินกว่า 5.00% ได้นาน ทั้งนี้ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้พอสมควร

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์