ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
551

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็กังวลว่า การเปิดประเทศจีนอย่างเต็มรูปแบบของในปีหน้า อาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อไม่สามารถคลี่คลายลงได้ง่ายและอาจกดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยความกังวลดังกล่าวได้สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สู่ระดับ 3.88% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์/อัตราดอกเบี้ย ปรับตัวลงต่อเนื่อง อาทิ Apple -3.1%, Alphabet -1.6%, Microsoft -1.0% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.20%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.13% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาว เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML -1.7%, Adyen -0.8%) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังรอประเมินผลกระทบจากการเปิดประเทศจีนในต้นปีหน้า ว่าจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อภาพเศรษฐกิจยุโรปมากกว่ากัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนล่าสุดยังคงน่ากังวลอยู่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.5 จุด ทั้งนี้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน ใกล้ระดับ 1,812 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีบางจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งมีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวของทองคำในการทยอยเข้าซื้อ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Claims) โดยหากรายงานข้อมูลดังกล่าวยังคงออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก ต่ำกว่า ระดับ 220,00 ราย หรือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง ต่ำกว่า 1.67 ล้านคน ผู้เล่นในตลาดก็อาจประเมินว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ อาจหนุนให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ และอาจแตะระดับสูงกว่า 5.00% ที่ตลาดมองในปัจจุบัน ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงหรือระมัดระวังตัวมากขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways ซึ่งหากเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็อาจกดดันให้เงินบาทสามารถผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวใกล้โซนแนวต้าน ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเพิ่มขึ้นและสามารถกดดันเงินบาทได้เช่นกัน แต่เรายังคงมองว่า แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า แต่ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทก็ยังมีอยู่ อาทิ แรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมากหรือทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้แถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์