คปภ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อมุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย • เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร จังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัยให้ “เกษตร-ปศุสัตว์-ประมง” อย่างยั่งยืน

0
1723

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ดังนั้น การลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัย จึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปดำเนินการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไป

ที่ผ่านมาการเกิดภัยธรรมชาติ และการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรยังคงเกิดขึ้นทุกปี และแม้ว่าปัจจุบัน ได้มีการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลร่วมสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเสนอโครงการช่วยเหลือแบบปีต่อปี โดยขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรทางด้านประกันภัยมีความต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ พืชผล ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มีการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยกลุ่มที่มีกฎหมายประกันภัยพืชผลเป็นการเฉพาะ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมที่กำลังศึกษา นอกจากศึกษากฎหมายดังกล่าวจากหลายประเทศแล้ว ยังเน้นไปที่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากโครงสร้างของกฎหมายมีบทบัญญัติที่ชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาการประกันภัยด้านเกษตรกรรม มีสาระสำคัญ อาทิเช่น การกำหนดประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมทั้งประเภทพืชผล ปศุสัตว์ และประมง การกำหนดรูปแบบการประกันภัย ที่เหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ การกำหนดประเภทความเสี่ยงภัย อัตราเบี้ยประกันภัยและวิธีการประเมินความเสียหาย การกำหนดบทบาทภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทประกันภัย และระบบการประกันภัยต่อ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านเกษตรกรรมประเภทต่าง ๆ จึงได้จัดให้มีการลงพื้นที่ในการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการวิจัยและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลได้แก่ สำนักงาน คปภ. ผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยได้จัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้ว จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดราชบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนและคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงภัยด้านการประมง โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย จำนวน 5 กลุ่ม เพื่อระดมสมองและเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น โดยมุ่งเน้นเรื่องการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาและวิจัยตามโครงการฯ เช่น ปัจจัยที่มีความเสี่ยง ต้นทุนในการเลี้ยงกุ้ง ความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้ระบบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหาย ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง ณ ศรีวิชัยฟาร์ม ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้รับทราบปัญหาอุปสรรคและความเสี่ยงภัยในการเลี้ยงกุ้ง เช่น การเกิดโรคระบาดในกุ้ง การเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการประมงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนากรอบแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม มีความสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

“การศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือ ภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นการน้อมรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ระบบประกันภัยไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกทางด้านประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านประกันภัย และได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย