คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแนะตรวจ “ต้อหิน” ปีละ 1 ครั้ง ชี้รู้เร็วรักษาได้ป้องกันไม่ให้ตาบอด

0
1834

“ต้อหิน” เป็นสาเหตุอันดับสองที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตาบอด และเป็นโรคที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคต้อหินประมาณ 60 ล้านคน แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคต้อหินเพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านคน สาเหตุเป็นเพราะมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะพบผู้ป่วยต้อหินเกือบ 100 ล้านคน

     จากงานวิจัยพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคต้อหินในคนเอเชีย ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป พบประมาณ 2.5% อายุ 50 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยต้อหิน 3.5% สอดคล้องกับงานวิจัยในประเทศไทย ที่พบว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยต้อหิน 3.2% ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปพบผู้ป่วยต้อหินประมาณ 6% อายุ 70 ปีขึ้นไปพบผู้ป่วยต้อหิน 7% อายุมากกว่านั้นพบผู้ป่วยต้อหินประมาณ 8-10% งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากขึ้น และขณะนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยต้อหินจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี โรคต้อหินสามารถพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่แรกคลอด ในเด็ก วัยทำงาน แต่พบไม่มาก โดยจะพบเพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นตามลำดับ ดังกล่าวแล้ว   

“โรคต้อหิน ทำให้หลายล้านคนทั่วโลกตาบอด ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้สูงวัยที่อายุ 50 ปีขึ้นไป มาตรวจตาคัดกรองปีละ 1 ครั้ง  ถ้าพบตั้งแต่เริ่มต้น สามารรักษา ป้องกันตาบอดได้ และในช่วงสัปดาห์ต้อหินโลกในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการรณรงค์ให้ความรู้ และตรวจคัดกรองผู้ป่วยต้อหิน ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก ปีนี้ คือ ระหว่างวันที่ 7-13 มีนาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 จึงไม่ได้มีการจัดงานที่รวมคนจำนวนมากมาตรวจคัดกรอง โรงพยาบาลศิริราชได้จัดทำบอร์ด ให้ความรู้เรื่องโรคต้อหิน ที่ตึกผู้ป่วยนอกชั้น 5 เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคต้อหิน ที่รักษาได้ ป้องกันตาบอดได้ แต่ถ้าเป็นแล้วไม่รักษาอย่างถูกต้องจะทำให้คนไข้ตาบอดอย่างถาวรได้ในอนาคต” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงงามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป 

    ต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายของขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียลานสายตา และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด โดยการสูญเสียนี้เป็นการสูญเสียที่ถาวร 

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญ ได้แก่  ประวัติในครอบครัว ใครที่มี พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายเป็นต้อหิน ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากต้อหินเป็นโรคทางพันธุกรรม  ความดันลูกตาสูงเกินปกติ ความดันตาในคนปกติจะอยู่ที่ 10-20 มิลลิเมตรปรอท หากสูงเกิน 21 ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นต้อหินได้  สายตาสั้นหรือยาวมากเกินไป หากสายตาสั้นเกิน 600 ขึ้นไปเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมเปิด หากสายตายาวมากเกิน 300 ขึ้นไป จะเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมปิด โรคระบบการไหลเวียน และหลอดเลือด เช่น โรคไขมันสูง ความดันสูง และโรคเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน 

    อาการของโรคต้อหิน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือต้อหินชนิดเฉียบพลัน มักพบในคนต้อหินมุมปิด คนไข้จะมีอาการรุนแรง ปวดตาทันที ตาแดง และตามัวลงอย่างรวดเร็ว อีกชนิดหนึ่งคือต้อหินเรื้อรัง จะไม่มีอาการอะไรเลยในระยะแรก อาการลานสาตาที่แคบลงจะเป็นไปอย่างช้าๆ  คล้ายเป็นระเบิดเวลา ถ้ารอให้มีอาการมาก จนลานสายตาแคบลงมาก แสดงว่ามีการสูญเสียลานสายตามากกว่า 50% ขึ้นไป

    การรักษาโรคต้อหินมี 3 วิธี คือ ใช้ยาหยอดตา ใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะเริ่มจากการใช้ยาและใช้เลเซอร์ก่อน ถ้าไม่ได้ผล ควบคุมโรคไม่ได้จึงจะทำการผ่าตัด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้มักได้ผลดีและช่วยป้องกันคนไข้ต้อหินไม่ให้ตาบอดได้ในอนาคต 

     ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินปีละครั้ง หากเป็นผู้ที่มีความปัจจัยเสี่ยงข้างต้นมากกว่า 1 ข้อ อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินปีละครั้ง และเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคต้อหิน ให้รีบรักษา ถ้าแพทย์ให้การรักษาโดยการหยอดตา ควรหยอดตาให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ และมาตรวจตามที่แพทย์นัดหมาย เพราะโรคต้อหินเรื้อรังไม่แสดงอาการในระยะแรก คนไข้อาจรู้สึกว่าหยอดยาหรือไม่หยอดยาก็ไม่มีอาการ แต่จริง ๆแล้วขั้วประสาทตาจะถูกทำลายไปอย่างช้าๆ หากไม่รักษาอย่างต่อเนื่อง อาจสูญเสียการมองเห็น และเป็นการสูญเสียที่ถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมได้